Low Carbon Holiday : ทริปรักษ์โลกแบบคนไม่เอาถ่าน ปล่อยเต่า ปล่อยปู ปลูกปะการัง ณ หมู่เกาะทะเลตราด

Cover-Low-Carbon

ทริปเดินทาง : 13-15 พฤศจิกายน 2558

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน… ใครอ่านรอบเดียวแล้วจำได้แม่นก็ขอปรบมือให้รัวๆ ว่าแล้วเลยขอเรียกแค่ตัวย่อว่า อพท. นักเดินทางหลายคนอาจรู้จักหน่วยงานนี้อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่คงไม่คุ้นชื่อ เพราะทำงานบทบาทเบื้องหลัง ไม่โดดเด่นสักเท่าไหร่

เกริ่นนำง่ายๆ ว่า อพท. มีบทบาทตามชื่อคือวางแผนจัดการ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษซึ่งได้รับการกำหนดไว้ ปัจจุบันมีสำนักงานย่อย 6 พื้นที่ คือ หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จ.ตราด – จ.เลย – เมืองเก่าน่าน จ.น่าน – เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี – อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จ.สุโขทัย กับ กำแพงเพชร – เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง จ.ชลบุรี

Low-Carbon-001

รู้จัก อพท. พอหอมปากแล้ว ต่อมาต้องแจงว่ากิจกรรม Low Carbon Holiday 13-15 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นการนำร่องจัดทัวร์ท่องเที่ยวแบบประหยัดทรัพยากร ใส่ใจธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเสีย ซึ่งมี อพท. หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง หรือ อพท.1 เป็นแม่งาน ร่วมกับ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ผู้ร่วมเดินทางมีทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไปซึ่งซื้อทัวร์มา สื่อมวลชน ไกด์ รวมแล้วกว่าร้อยชีวิต ส่วนผมเองจะเรียกว่าสื่อคงกระดากปาก ขอเป็นผู้สังเกตการณ์แล้วกัน มาดูว่ากิจกรรมนำร่องครั้งนี้จะเปรี้ยงหรือแป้ก

ทีนี้ Low Carbon ลดการปล่อยก๊าซเสียทั้งหลายเป็นอย่างไร มองภาพง่ายๆ เช่นเดินทางด้วยรถทัวร์เป็นกลุ่มใหญ่ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ พักโรงแรมรีสอร์ทซึ่งใส่ใจการรักษาสภาพแวดล้อม ทานอาหารที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งหมดที่ว่ามามีอยู่ในกิจกรรมครั้งนี้ครับ

Low-Carbon-002


DAY 1 : จากเกาะกูดมุ่งสู่เกาะหมาก

ทริป Low Carbon Holiday เที่ยวแบบคนไม่เอาถ่าน เริ่มต้นจาก กทม. ย่านสนามเป้า เดินทางด้วยรถบัสสองคันสู่ท่าเรือแหลมศอก จ.ตราด เป้าหมายแรกคือการมุ่งหน้าสู่เกาะกูด เกาะสุดท้ายปลายทะเลภาคตะวันออก ฟ้าใสแดดดีเชียว

รวมหนนี้เท่ากับผมมาเกาะกูดเป็นปีที่ห้าติดต่อกันแล้ว (ฮา…) แต่เป็นหนแรกที่นั่งเรือเกาะกูด เอ๊กเพรส เลยมาขึ้นเกาะที่ท่าเรือน้ำลึกอ่าวตะเภา ยังคงน้ำสวยใสเหมือนเคย ที่เปลี่ยนไปคือมีรีสอร์ทริมหาดเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ถือเป็นการเติบโตตามกาลเวลาครับ จะให้หยุดกระแสโลกคงยาก

Low-Carbon-003

Low-Carbon-004

Low-Carbon-005

Low-Carbon-006

เรามาเกาะกูดเพราะมีภารกิจ ทีมงานให้สองทางเลือกคือไปยิงเมล็ดพันธุ์ไม้ปลูกป่าพร้อมเที่ยวน้ำตกคลองเจ้า กับไปปล่อยปูปล่อยปลาบริเวณลำคลองเจ้า ผมเลือกปล่อยปูปล่อยปลาเพราะอยากเห็นบรรยากาศบริเวณคลองเจ้า ยังไม่เคยเข้ามาสัมผัสความสวยงามริมคลองธรรมชาติสายนี้แบบจริงจังเลย

ไม่ผิดหวังครับ บรรยากาศคลองเจ้างามมาก เป็นคลองธรรมชาติรับน้ำมาจากน้ำตกคลองเจ้าก่อนไหลลงทะเลที่หาดคลองเจ้า เรียงรายริมคลองมีที่พักบรรยากาศดีให้เลือกใช้บริการเพียบ

Low-Carbon-007

Low-Carbon-008

Low-Carbon-009

กินข้าวเที่ยงและทำกิจกรรมกันครับ ปูที่เตรียมมาปล่อยเป็นปูดำหรือเรามักเรียกว่าปูทะเล อาศัยตามป่าโกงกาง เลยต้องมาปล่อยกันที่คลองเจ้า เจ้าปูคงตกใจน่าดูคิดว่าโดนจับมาโยนเข้าเตานึ่งเสียแล้ว ลงน้ำได้ก็ตะกุยตะกายหนีหัวซุกหัวซุน สังเกตจากสีหน้าคนปล่อยก็รู้ครับว่าไม่อยากทำร้ายพวกมันหรอก รอคราวหน้าให้ออกลูกออกหลานเยอะๆ ตอนนั้นแหละจะฟาดให้เรียบเชียว (ฮา…)

Low-Carbon-010

Low-Carbon-011

Low-Carbon-012

Low-Carbon-013

น่าเสียดายที่เวลาบนเกาะกูดแสนสวยมีเพียงนิดเดียว หลังปล่อยปูปล่อยปลาเสร็จต้องกลับมาขึ้นเรือที่อ่าวตะเภา เพื่อต่อไปยังเกาะหมาก ผมน่ะคุ้นเคยกับเกาะกูดดีอยู่แล้ว แต่แอบเสียดายคนเพื่อนร่วมทริปที่ยังไม่ได้สัมผัสหาดสวยๆ ที่มีอยู่มากมาย

ประมาณชั่วโมงก็เดินทางจากเกาะกูดมาถึงเกาะหมาก เกาะซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon เป็นเกาะเติบโตช้า แทบไม่มีแสงสี ด้วยเพราะที่ดินบนเกาะแห่งนี้เป็นที่ส่วนบุคคลของตระกูลญาติพี่น้องเก่าก่อนไม่กี่ตระกูลมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เลยสามารถกำหนดความเป็นไปของเกาะได้โดยง่าย

มาถึงแล้วกรุ๊ปทัวร์ของเรากระจายกันไปตามรีสอร์ทต่างๆ ที่เตรียมกันไว้ ผมได้นอนที่มากะธานี รีสอร์ท อ่าวขาว ขอเก็บบรรยากาศยามเย็นมาฝากเล็กน้อยครับ

Low-Carbon-014

Low-Carbon-015

Low-Carbon-017


DAY 2 : ทะเลตราดน้ำใส และกิจกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อม

วันถัดมาเช็คเอาต์จากอ่าวขาวมุ่งหน้าไปอ่าวสวนใหญ่ ตรงเกาะหมาก รีสอร์ท ที่นี่แสดงให้เห็นว่าทำไมเกาะหมากถึงเป็นเกาะแห่งการเที่ยวแบบ Low Carbon เขามีการปลูกพืชปลูกผักปลอดสารพิษสำหรับปรุงอาหารเอง แต่ที่อะเมซิ่งมากคือทำนาปลูกข้าวเองด้วย เป็นสิ่งที่ อพท. นิยามว่า From farm to table คือจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร ไม่ต้องผ่านกระบวนการขนส่งหรือเก็บรักษา เป็นการลดคาร์บอนอีกหนึ่งวิธี

Low-Carbon-018

Low-Carbon-020

Low-Carbon-021

ท่าเรือเกาะหมาก รีสอร์ท อ่าวสวนใหญ่ครับ สวยใสจนอดใจเก็บภาพมาให้ชมไม่ได้เลยทีเดียว

Low-Carbon-022

Low-Carbon-023

Low-Carbon-024

Low-Carbon-025

ถึงเวลาอันสมควร กรุ๊ปเราก็ลงเรือมุ่งหน้าสู่เกาะขาม กับเหล่าหินภูเขาไฟ Unseen Thailand ซึ่งวางตัวเด่นอยู่หน้าอ่าวสวนใหญ่แค่นิดเดียว เกาะเล็กๆ นี้เหมือนสวรรค์ของแท้ บรรยากาศสงบงามเพราะเป็นเกาะส่วนตัว ผมมาครั้งแรกตั้งแต่ปี ’53 ผ่านมาถึงบัดนี้รีสอร์ทที่กำลังสร้างอยู่ก็ยังไม่เสร็จสักที

แม้มีการปรับภูมิทัศน์บริเวณชายหาดของเกาะเล็กน้อย แต่โดยรวมยังไม่เสียความงามตามธรรมชาติ โดดเด่นที่สุดคือหมู่หินภูเขาไฟตั้งอยู่หน้าหาด ไม่รู้ว่ามาได้ยังไงเหมือนกัน เป็นปริศนาแห่งธรรมชาติ ส่วนเรื่องน้ำทะเลรับประกันว่าใสราวน้ำก๊อก

Low-Carbon-026

Low-Carbon-027

Low-Carbon-029

กิจกรรมสำคัญบนเกาะขามคือการปล่อยเต่ากระคืนสู่ท้องทะเล สอบถามได้ความมาว่าเป็นเต่าจากการเพาะเลี้ยงที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ที่สัตหีบ มีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตตามธรรมชาติแล้ว

งานนี้เห็นเจ้าเต่าว่ายน้ำทะเลใสๆ กลับสู่สถานที่ที่พวกมันควรอยู่แล้วก็ชื่นใจ โลกช่างกว้างใหญ่นักสำหรับพวกมัน หากในอนาคตจะเติบโตและกลับมาวางไข่ในย่านทะเลตราดคงเยี่ยมมาก

Low-Carbon-031

Low-Carbon-032

Low-Carbon-033

เสร็จจากการปล่อยเต่า (และหลายคนเล่นน้ำ) ได้เวลาก็ขึ้นเรือโดยสารมุ่งหน้าสู่อีกหนึ่งเกาะสวยชื่อว่าเกาะหวาย ใครเคยมาทริปดำน้ำจากเกาะช้าง คงเคยมาเที่ยวที่นี่ โดดเด่นเพราะมีโครงการปลูกปะการังคืนสู่ธรรมชาติ และนั่นเป็นภารกิจของคณะเราครับ

มาถึงแล้วต้องร้องว้าว ถึงผมจะเคยมาแล้วหลายรอบมาก (ครั้งนี้รอบที่ห้า) แต่รู้สึกว่า ณ เวลานี้แหละที่น้ำทะเลสวยใส แดดดีเจิดจ้ามากที่สุด บอกเลยว่ารัวชัตเตอร์มันมือมาก

Low-Carbon-034

Low-Carbon-035

Low-Carbon-037

หลังทานอาหารกลางวันเสร็จก็เข้าสู่การปฏิบัติภารกิจ เริ่มแรกคือการฟังบรรยายจากโครงการวีนิไทยร่วมใจปลูกปะการัง 80,000 กิ่ง ถึงประวัติความเป็นมา วิธีการปลูกปะการังเขากวางด้วยท่อพีวีซีว่าทำกันอย่างไร แล้วค่อยรับแจกปะการังเขากวางมาคนละกิ่ง พร้อมแท็กเบอร์ยืนยันว่าต้นนี้ฉันเป็นคนปลูกนะ

Low-Carbon-038

Low-Carbon-040

Low-Carbon-041

จากนั้นก็เสียบปะการังลงในท่อพีวีซี ขันสกรูให้แน่นในระดับที่พอดีไม่ทำร้ายปะการังจนตาย นำมาเสียบลงบนแผงที่เตรียมไว้สำหรับทำแนวปะการังเทียม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำน้ำนำไปวางไว้ที่จุดกำหนด ปล่อยให้มันเติบโตกลายเป็นแนวปะการังเขากวางอันสมบูรณ์ต่อไป

Low-Carbon-042

Low-Carbon-043

Low-Carbon-044

Low-Carbon-045

หลังเสร็จกิจกรรมปลูกปะการัง มีเวลาพอสมควรให้ลงเล่นน้ำดำน้ำกันตามสบาย ผมไม่ได้เตรียมตัวมาเปียกเลยเลือกถ่ายรูปเล่นไปเรื่อยๆ หาดทรายบริเวณเกาะหวาย ปะการัง รีสอร์ท อาจไม่ขาวละเอียด สีออกไปทางน้ำตาลแดง แต่บรรยากาศน่ามาพักผ่อนมาก

Low-Carbon-046

Low-Carbon-047

Low-Carbon-048

กระทั่งหมดเวลาสนุกแล้วสิ (กรุณาทำเสียงเทเลทับบี้) ก๊วนของเราจึงล่องเรือเดินทางต่อสู่เกาะช้าง เกาะใหญ่ที่สุดแห่งทะเลตะวันออก สถานที่ซึ่งผมแสนจะคุ้นเคย

เรามาขึ้นเกาะที่อ่าวสลักเพชร ชุมชนประมงใหญ่ที่สุดของเกาะ หลายคนนิยามโซนนี้ว่าเกาะช้างเลี้ยวซ้าย หมายถึงปกติหากเราขึ้นเรือเฟอร์รี่มาเที่ยวเกาะช้าง พอถึงเกาะถ้าเลี้ยวขวาก็จะไปหาดต่างๆ ทรายขาว คลองพร้าว ไก่แบ้ โลนลี่บีช ซึ่งมีโรงแรมรีสอร์ทละลานตาเทือกนั้น แต่หากเลี้ยวซ้ายเราจะพบเจออีกโลกของเกาะช้าง เป็นที่ตั้งของชุมชนสลักคอก สลักเพชร ป่าโกงกาง

Low-Carbon-051

Low-Carbon-052

จุดหมายอยู่ที่ เดอะ สปา เกาะช้าง รีสอร์ท ไม่ไกลจากบ้านสลักคอก ที่นี่แม้จะเป็นรีสอร์ท แต่เป็นรีสอร์ทสีเขียวเน้นการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เขาจัดทำศูนย์ธรรมชาติบำบัดศึกษา เผยแพร่แนวทางการรักษาสุขภาพแขนงต่างๆ โดยเฉพาะประโยชน์จากพืชพรรณนานาชนิด นั่งฟังบรรยายไปได้ความรู้มากครับ

ส่วนภายในรีสอร์ทตกแต่งรมรื่นโอบล้อมด้วยป่าชายเลน มาพักที่นี่จะไม่เหมือนการมาเที่ยวตามชายหาดเกาะช้างนะ จะให้ดีต้องตั้งใจมาเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทำสปานวดบำบัดต่างๆ อบสมุนไพร เล่นโยคะ ดีท็อกซ์ล้างพิษ ทานอาหารปลอดสารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ผมว่าเป็นอะไรที่เก๋ดีแท้

Low-Carbon-053

Low-Carbon-054

Low-Carbon-055

รับความรู้ด้านสุขภาพกันเต็มที่แล้วก็แยกย้ายกันเข้าพักที่โรงแรมแถวหาดทรายขาว อาบน้ำพักผ่อนแล้วเตรียมตัวมาดินเนอร์กันที่ เคซี แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา กับงานเลี้ยงต้อนรับคณะท่องเที่ยว Low Carbon Holiday มีไฮไลท์คือการประกวดทำอาหารจากเชฟยอดฝีมือ 6 โรงแรม-ร้านอาหาร บนเกาะช้าง ในรูปแบบของรายการเรียลลิตี้ ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งหมดตามคอนเซ็ปต์ Form farm to table

Low-Carbon-056

Low-Carbon-057

แต่ก่อนอื่นมีของทานเล่นให้รองท้องก่อน ทุกอย่างเป็นอาหารถิ่นของชาวตราด และเด็ดสุดผมว่าขนมเบื้องบ้านน้ำเชี่ยว มีเฉพาะที่บ้านน้ำเชี่ยวเท่านั้นครับ

Low-Carbon-058

Low-Carbon-059

Low-Carbon-060

น่าเสียดายว่าฝนที่ตกลงมาทำให้การสถานที่ซึ่งจัดไว้สวยๆ และกำหนดการต้องปรับเปลี่ยนเล็กน้อย แต่สุดท้ายเราก็ได้ชมการแข่งขันทำอาหารอย่างใกล้ชิด อย่างกับไปดูรายการเชฟกระทะเหล็กกันเลยทีเดียว

Low-Carbon-061

Low-Carbon-062

Low-Carbon-063

Low-Carbon-064

โฉมหน้าอาหารที่ผ่านการปรุงเสร็จสรรพจากเชฟดังทั้งหลายบอกเลยว่าไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่หน้าตาน่ากินอย่างเดียว รสชาติเข้าขั้นเทพด้วยเหมือนกัน เดินวนรอบชิมกันอย่างกับเล่นเก้าอี้ดนตรีเลยทีเดียว (ฮา…)

Low-Carbon-066

Low-Carbon-067

Low-Carbon-068

Low-Carbon-069

Low-Carbon-070


DAY 3 : กินเพื่อสุขภาพอาหารคลีนสีเขียว

วันสุดท้ายของทริป Low Carbon Holiday ได้เวลาอำลาจากเกาะสวยๆ กลับสู่ฝั่งจังหวัดตราด มุ่งหน้าไปยังบ้านปู รีสอร์ท ผมเคยได้ยินชื่อเสียงมานานสำหรับรีสอร์ทและร้านอาหารที่ตั้งอยู่แนบชิดกับป่าชายเลนแห่งนี้ เข้ามาแล้วขอบอกว่าบรรยากาศดีมากสำหรับคนชอบความเงียบสงบและธรรมชาติครับ

Low-Carbon-071

Low-Carbon-072

Low-Carbon-073

จุดเด่นของที่นี่คือใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่หรูหรามาก ส่วนเรื่องของอาหารเป็นทีเด็ดจริงๆ มีการปลูกผักปลอดสารพิษ ผักไฮโดรโปนิกส์มาปรุงอาหาร นำวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เรียกว่ากินข้าวบนโต๊ะอาหาร วัตถุดิบมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ หาได้จากรอบชุมชนหรือในจังหวัด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ From farm to table

Low-Carbon-074

Low-Carbon-075

Low-Carbon-076

นั่นแหละครับคือฉากสุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพของทริปดีๆ Low Carbon Holiday กับ อพท.1 อันเป็นโครงการนำร่อง ถือว่าไอเดียค่อนข้างกล้าหาญกับการนำเอาคำว่า Low Carbon เที่ยวแบบสร้างมลพิษให้น้อย ประกอบกับกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ต่างๆ มาเสนอขายกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งตามปกติมักเน้นที่ความสะดวกสบายและคุ้มราคาไว้ก่อน

ในภาพรวมของทริปทั้งหมดมีทั้งดีและเสีย เพราะเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมครั้งแรกย่อมผิดพลาดบ้างตามประสา ทว่าเมื่อมองกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ปล่อยปู ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ปลูกปะการัง เรียนรู้การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การแสดงให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าหลายชุมชนพยายามสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้นมา ก็ถือว่าโครงการ Low Carbon Holiday ประสบความสำเร็จทีเดียว และชัดเจนว่าคำว่า Low Carbon สามารถนำมาใช้เสนอขายได้

ใครที่สนใจการเที่ยวแบบใส่ใจธรรมชาติเช่นนี้ ลองติดตามข่าวสารทาง อพท. ดูครับว่าจะมีต่อเนื่องมาอีกหรือไม่ หรือคลิกเข้าไปติดตามที่ Facebook การท่องเที่ยว Low Carbon ได้เลยที่ www.facebook.com/ThailandLowCarbonTourism ครับ เผื่อมีกิจกรรมคราวหน้าจะได้ไม่พลาด


ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller


About the author