เส้นทางผู้พิชิต ดอยหลวง-ดอยหนอก สุดหัวใจบันไดไต่ฟ้า

Doiluang 000

ทริปเดินทาง : 29 – 30 มิถุนายน 2559

ดอยหลวง-ดอยหนอก… ก่อนหน้านี้อยู่แห่งหนตำบลใดบนแผนที่ประเทศไทยผมก็ไม่รู้หรอก กระทั่งคลิกเมาส์เล่นเฟซบุ๊คเลื่อนฟีดเจอโพสต์ชวนไปเที่ยวที่นี่กันไหม เหมือนดังต้องมนต์สะกด ผมพิมพ์ตอบว่า “ไปด้วยคนครับ” ทั้งที่เพิ่งเคยได้ยินชื่อมันครั้งแรก

ต่างคนต่างมา โพสต์ดังกล่าวทำให้เราได้ทีมแปดคนเพื่อพิชิตดอยหลวง-ดอยหนอก ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ที่ทำการอุทยานฯ อยู่เชียงราย ทว่ายอดดอยหลวงและดอยหนอกอยู่ฝั่งอำเภอเมือง พะเยา ติดต่อกับอำเภองาว ลำปาง ในความดูแลของหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ 6 (จำปาทอง) ปกติอุทยานฯ เปิดให้เที่ยวตั้งแต่ 1 ตุลาคม ถึง 30 มิถุนายน มีเบรกสั้นๆ สามเดือนช่วงฝนชุก โปรแกรมของเราคือไปปิดดอย 29-30 มิถุนายน เป็นช่วงกลางสัปดาห์เลยมีกลุ่มเดียว ทั้งภูเขาเป็นของเราว่าอย่างนั้น

Doiluang 001

บอกสักนิดว่าการท่องเที่ยว ดอยหลวง-ดอยหนอก ต้องมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำทาง เรื่องรถรับ-ส่ง ลูกหาบ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ฯ โดยตรง โทร. 092-713-2046, 080-853-6033

สำหรับพวกเรา คนต้นคิดทริปนี้ติดต่อไว้เรียบร้อย ที่เหลือแค่เจอหน้ากันจุดนัดพบ บขส.พะเยา


– ขาขึ้นดอยหลวง

ผมเดินทางด้วยรถทัวร์จากโคราชถึงพะเยาใกล้หกโมงเช้า พบว่าเราเหลือแค่หกชีวิตเนื่องจากมีคนป่วยและติดธุระสองคน เรื่องตลกคือคนชวนพวกเรามาเที่ยวเป็นหนึ่งในนั้น… ไม่เป็นไรครับ หกคนก็ต้องว่ากัน ชายสามหญิงสาม

หาอะไรกินแถว บขส. แนะนำตัวสร้างความคุ้นชินสักพัก เจ็ดโมงเช้าเวลานัดหมายเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ขับรถกระบะมารับพาเราแล่นไปตามถนนสายไหนไม่รู้แหละเพราะไม่มีใครเคยมาพะเยาสักคน กระทั่งแวะพักที่จุดชมวิวกว๊านพะเยา บ้านแม่นาเรือ เห็นป้ายเส้นทางพิชิตดอยหลวง-ดอยหนอก เราจัดแจงแพ็คกระเป๋าสัมภาระ เข้าห้องน้ำห้องท่า พอเรียบร้อยแล้วเจ้าหน้าที่ก็บอกว่า เอาล่ะ… ขึ้นรถไปต่อ

Doiluang 002

Doiluang 003

ความจริงคือดอยหลวง-ดอยหนอก มีทางขึ้นหลายเส้นทั้งจากพะเยาและลำปาง ตรงบ้านแม่นาเรือเป็นทางใหม่สุด ระยะประมาณ 12 กิโลเมตร ค่อนข้างไกลเดินยาก ส่วนเส้นปกติสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ใกล้กับบ้านปากบอก จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นรอยต่อจังหวัดพะเยา–ลำปาง ห่างจากที่เราพักจอดรถเข้าห้องน้ำแค่รถวิ่งไม่ถึงห้านาที

ถึงทางขึ้นบ้านปากบอกมีป้ายจุดรวมพลให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเสียหน่อย คงเป็นรูปที่ยังพอดูดีอยู่รูปสุดท้ายแล้วล่ะ (ฮา…) ทริปนี้สาวๆ กำลังวัยรุ่น เพิ่งเรียนจบคนหนึ่ง อีกสองกำลังเรียน เลยกลายเป็นทริปที่เฮฮาใช้ได้

Doiluang 004

ทางเดินขึ้นอยู่ริมถนนครับ เราเริ่มเดินแปดโมงครึ่ง เจ้าหน้าที่นำทางหนึ่งคน ลูกหาบสองคนซึ่งแบ่งสัมภาระของเพื่อนร่วมทริปไปได้พอสมควร ส่วนผมขอวัดกำลังสักหน่อยแบกเองทั้งหมด ไหวไม่ไหวเดี๋ยวรู้กัน

Doiluang 005

เส้นทางช่วงแรกไม่โหดเท่าไหร่ ลักษณะเป็นการเดินข้ามเขาทีละลูก จึงเป็นการเดินขึ้นแล้วก็เดินลง ขึ้นแล้วก็ลง ไม่ได้ว่าไต่ขึ้นกับขึ้นอย่างเดียวเหมือนบางดอย

Doiluang 006

Doiluang 007

Doiluang 008

เริ่มขึ้นมาสูงเห็นหมอกสวยเหลือเกิน ข้างทางมีอะไรให้ชมเยอะแยะ

Doiluang 009

Doiluang 010

Doiluang 011

แต่พอขึ้นมาสูงขึ้นอีกหมอกกลับฟุ้งแฮะ กระทั่งถึงบริเวณป่าสนเขาที่เราพักกินข้าว (ลูกหาบนึ่งข้าวเหนียวพร้อมหมูทอด ไก่ทอด จัดมาให้เพียบ) กลายเป็นว่ามองไม่เห็นวิวสองข้างทางแล้ว

ทว่าไม่มีผิดหวังครับเพราะหมอกฟุ้งๆ บรรยากาศดีอีกแบบ แถมพี่ลูกหาบมองแง่ดีครับว่าหมอกกระจายตอนนี้น่ะดีแล้วเพราะกว่าเราจะขึ้นถึงยอดดอยหลวงช่วงบ่ายฟ้าคงเปิดพอดี

Doiluang 012

เราแบกเป้กระดึ๊บมาเรื่อย พอถึงสิบเอ็ดโมงนิดๆ เจ้าหน้าที่นำทางก็บอกว่า… ที่เดินมาตลอดทางน่ะแค่เรียกน้ำย่อย จากนี้จะเข้าสู่โหมดของจริงทางชันกว่าเดิมอีกเท่าตัว เราต้องเดินขึ้นเขาอีกสี่ลูก ลูกแรกอยู่ตรงหน้าเราคือ “สันหมูแม่ด้อง” ลูกสอง “เด่นสะแกง” ลูกสาม “บันไดก่ายฟ้า” และสุดท้ายคือพิชิตยอดเขาสูงสุดของพะเยา “ดอยหลวง”

เอาล่ะ… ทำใจพร้อมเหนื่อยแล้วลุยโลด

เริ่มที่ข้างหน้าคือสันหมูแม่ด้อง หมูแม่ด้องหมายถึงแม่หมูที่เลี้ยงลูกจนตัวผ่ายผอม คิดดูสิครับว่าแล้วสันหลังหมูผอมๆ มันจะมีลักษณะอย่างไร… ชันและแคบนั่นไง

Doiluang 013

Doiluang 014

เป้ใบโตถ่วงน้ำหนักชวนให้หงายหลังเหลือเกินแต่สุดท้ายก็ขึ้นมาสำเร็จ ปกติเมื่ออยู่บนสันหมูแม่ด้อง มองฝั่งซ้ายจะเห็นลำปาง ฝั่งขวาคือพะเยา ทว่าของเราเป็นปกติอีกแบบคือหมอกฟุ้งขาวโพลนมองไม่เห็นอะไรสักนิด ลูกหาบแนะนำว่าพยายามทิ้งตัวไปทางขวา เพราะหากพลาดร่วงลงไปจะได้เก็บขึ้นมาง่ายๆ ถ้าตกซ้ายจะลงไปยาวตามเก็บลำบาก (ฮา…)

Doiluang 015

เราปีนป่ายฝ่าหมอกขาวจนถึงเวลาอีกสิบห้านาทีเที่ยงก็มาถึงครึ่งทาง จุดนี้ชื่อว่า “เด่นสะแกง” ได้ยินเสียงกระดิ่งก๊องแก๊งพร้อมวัวฝูงเบ้อเริ่มเดินเล็มหญ้าให้งงเล่นพวกมันว่ามาจากไหน เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นวัวชาวบ้านข้างล่างที่เดินขึ้นมาหากินบนเขา… สุดยอดจริงๆ วัวพวกนี้

Doiluang 016

Doiluang 017

คำเมือง “เด่น” แปลว่าที่โล่ง “สะแกง” คือตะแคงหรือเอียงๆ เด่นสะแกงก็คือที่โล่งลาดเอียง แต่เห็นเป็นภูเขาหัวโล้นไม่สูงมากแบบนี้กลับทำเอาอ่วมใช่เล่น อาจเพราะระดับความเอียงพอดิบพอดีบวกกับความล้าของเรา การเดินข้ามเด่นสะแกงจึงง่ายต่อการเกิดตะคริว ผมเองหวิดไปเหมือนกันแฮะ รู้สึกตึงขาจนต้องหยุดยืนนิ่งๆ สองสามที

Doiluang 018

Doiluang 019

พ้นจากเด่นสะแกง เรามาเดินบนทางเลาะสันเขา แม้แอบเสียดายว่าฟ้ายังเปิดไม่เต็มที่ทำให้ไม่เห็นวิวข้างล่าง แต่อีกใจหนึ่งกลับยิ้มลึกๆ เพราะภาพหมอกขาวคลอเคลียกับป่าสีเขียวให้ความรู้สึกยอดเยี่ยมไม่น้อยไปกว่ากัน

Doiluang 020

บ่ายโมงครึ่งเรามาอยู่ทางขึ้นเขาลูกที่สาม “บันไดก่ายฟ้า” ไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าหมายถึงอะไร ปีนหินขึ้นไปสถานเดียว ปีนไม่ยากแต่ความชันโหดเชียวล่ะ

Doiluang 021

Doiluang 022

Doiluang 023

Doiluang 024

เมื่อพ้นจากบันไดก่ายฟ้า ขุนเขาสูงสุดของพะเยาค่อยๆ ปรากฎตรงหน้า “ดอยหลวง” นั่นไงล่ะ เห็นท่าทีว่ามีโอกาสฟ้าจะเปิดมากขึ้น ผมจึงใจเย็นรอเวลาช่วงหมอกบางพอถ่ายภาพยอดดอยหลวงไกลๆ เก็บมาได้เล็กน้อย มองเห็นเพื่อนร่วมทริปกำลังเดินขึ้นเขาตัวเท่ามด

Doiluang 025

Doiluang 026

Doiluang 027

Doiluang 028

อ้อ… ก่อนปีนขึ้นดอยหลวงมีตาน้ำอยู่นะครับ เป็นน้ำธรรมชาติกินได้ไม่มีปัญหา

ฮึดอีกเฮือก ย่ำทีละก้าว ใกล้บ่ายสามโมงตรงเราก็มาถึงในที่สุด ยอดดอยหลวงพะเยา 1,694 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โชคดีเหลือเกินครับเมื่อเรามาถึงหมอกเริ่มบางตาเหมือนที่ลูกหาบคาดเดาไว้ไม่ผิดเพี้ยน วิวตรงหน้าคือฝั่งลำปางครับ

Doiluang 029

Doiluang 030

Doiluang 031

นับจากจุดเริ่มต้นเราเดินมาแล้วเก้ากิโลเมตร ปกติหากเป็นทริปสามวันสองคืน เราจะได้พักแรมบนยอดดอยหลวงหนึ่งคืน อีกวันค่อยเดินต่อไปยังดอยหนอกที่อยู่ห่างออกไปสองกิโลเมตร แต่เพราะทริปเราค้างวันเดียวเท่านั้น พักหายเหนื่อยสักแป๊บก็ต้องเดินต่อสู่แคมป์พักแรมแถวดอยหนอก


มุ่งต่อสู่ดอยหนอก

เดินไต่สันเขาไปทีละนิดพร้อมกับฟ้าเปิดโล่งมากขึ้น และเมื่อหมอกจากหายดอยหนอกก็เผยโฉมให้เห็นเบื้องหน้า ภาพแบบนี้สุดยอดจนไม่ต้องบรรยายอะไรทั้งนั้นล่ะนะ หากไม่ใช่เพราะธรรมชาติสร้างสรรค์ เขาหินลูกใหญ่แบบนี้จะมาเด่นตระหง่านกลางผืนป่าได้อย่างไร

เห็นลิบๆ บนยอดดอยหนอกคือพระธาตุดอยหนอก ประวัติบอกว่าพระธาตุองค์ดั้งเดิมมีอายุยาวนานไม่ทราบผู้ก่อสร้างแน่ชัด ทว่าได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อประมาณเกือบสามสิบปีก่อน ปัจจุบันมีประเพณีสักการะพระธาตุดอยหนอกทุกปีในเดือนเมษายน โดยชาวบ้านจะเดินขึ้นทางบ้านห้วยหม้อซึ่งเป็นทางที่เราต้องลงพรุ่งนี้ครับ

Doiluang 032

Doiluang 033

Doiluang 034

Doiluang 035

ภาพของดอยหนอกขยายเข้ามาใกล้ขึ้นทุกก้าวเดิน กระทั่งเมื่อมาอยู่ด้านล่างเราต้องเลาะไปตามโขดหินเพื่อไปทางขึ้นดอยอีกฝั่งหนึ่ง

Doiluang 036

Doiluang 037

สี่โมงครึ่งเรามาถึงตีนทางขึ้นดอยหนอก วางสัมภาระทิ้งไว้แล้วลุยกันเลย ขอบอกครับว่าคนเป็นโรคกลัวความสูงมีขาสั่นแน่นอนเพราะทางปีนป่ายชันมาก ดีว่าหินไม่ลื่นรองเท้าเกาะหนึบใช้ได้

Doiluang 038

Doiluang 039

Doiluang 040

ไม่น่าเชื่อนะครับ ยอดสูงลิบของดอยหนอกที่เรามองเห็นอยู่ไกลๆ ตอนนี้เรามายืนอยู่บนนั้น ประกอบกับฟ้าเปิดเกือบหมดทำให้ในที่สุดเราก็เห็นวิวสวยเต็มตา ฝั่งหนึ่งลำปาง ฝั่งหนึ่งพะเยา อยากรู้ว่าฝั่งไหนคือพะเยา… ฝั่งที่มองเห็นกว๊านพะเยายังไงล่ะ

Doiluang 041

Doiluang 042

Doiluang 043

ด้านบนนอกจากพระธาตุ ยังมีพระพุทธรูปต่างๆ ให้กราบไหว้สักการะด้วยนะครับ

Doiluang 045

Doiluang 044

Doiluang 046

จุดนี้มองมองเห็นผาหินอยู่เขาลูกถัดไป ลูกหาบบอกว่าชื่อผาสามเส้า อาจมีการทำเส้นทางให้เดินไปพิชิตในอนาคต ส่วนด้านล่างเห็นพระพุทธรูปสีทองประดิษฐานอยู่ นั่นคือบริเวณที่เราจะค้างแรม

Doiluang 047

องค์พระอยู่ห่างจากตีนดอยหนอกแค่ห้าร้อยเมตร เป็นช่วงสุดท้ายสั้นๆ แต่พละกำลังที่อ่อนลงทำให้ต้องแบกสังขารแบบถูลู่ถูกังกันไป เรามาถึงองค์พระก่อนหกโมงเย็นแค่สิบนาที จากจุดเริ่มต้นถึงตรงนี้ก็สิบเอ็ดกิโลเมตร ยังไม่รวมกับการขึ้นดอยหนอก เป็นการทำเวลาที่น่าพอใจมากครับ

วิวจากบริเวณองค์พระสวยใช้ได้ทีเดียว

Doiluang 048

Doiluang 049

Doiluang 050

Doiluang 051

ถ้าอยากกางเต็นท์นอนบริเวณองค์พระก็ตามสบาย แต่ทางลงด้านล่างมีเพิงพักสร้างอยู่ หน้าฝนแบบนี้การเข้าไปหลบใต้หลังคาดูท่าจะเป็นไอเดียดีกว่า ส่วนห้องน้ำไม่มีนะครับ ใช้บริการตามป่าได้เลย

Doiluang 052

Doiluang 053

มื้อค่ำคืนนี้นอกจากอาหารสำเร็จรูปที่เตรียมมา ลูกหาบยังหุงข้าวทำแกงหยวกกล้วยให้กินด้วย ส่วนเรื่องน้ำดื่มแม้ไม่มีแหล่งน้ำแต่มีการรองน้ำฝนไว้กินและใช้ล้างหน้าล้างตา

Doiluang 054

กินข้าวเสร็จเดินขึ้นมาบนองค์พระหมายถ่ายรูปดาวสักหน่อย ปรากฎว่าเมฆเยอะเชียวเลยผ่านไปดีกว่า

Doiluang 055

Doiluang 056

พ้นสองทุ่มมาแค่นิดเดียวนะที่ผมจำได้ก่อนจะสลบหายเข้าสู่ภวังค์แห่งการหลับใหล


– ขาลงน้ำตกผาเกล็ดนาค

เช้าวันใหม่ เสียงฝนดังเปาะแปะกระทบหลังคาสังกะสี เราตื่นนอนประมาณเจ็ดโมงเช้า เก็บสัมภาระ ต้มน้ำร้อนชงกาแฟ ควักเอาอาหารที่เหลือมาจัดการให้เกลี้ยง เพราะต้องการทำกระเป๋าให้เบาที่สุด

แปดโมงเช้าเวลาออกตัว ฝนยังคงลงเม็ดใหญ่ เสื้อกันฝนของทุกคนถูกหยิบออกมาสวมเป็นครั้งแรก

จุดเริ่มต้นขากลับคือจากพระพุทธรูปองค์ใหญ่เดินลงตามไหล่เขา หญ้าคาริมทางค่อนข้างสูง แนะนำให้สวมถึงมือกันโดนบาดนะครับ แม้ฝนจะตกพรำๆ แต่วิวสองข้างทางสวยมากจนผมอดใจไม่ไหวต้องเสี่ยงหยิบกล้องมาแช้ะภาพไว้

Doiluang 057

Doiluang 058

Doiluang 059

ทางลงชันเชียวล่ะ หลายจุดต้องเกาะเชือกค่อยๆ ปีนลงไป ฝนตกทำให้ยิ่งลื่นมาก เราผลัดกันลงไปวัดพื้นคนละสองสามครั้งเรียกเสียงหัวเราะสนุกสนาน

Doiluang 060

Doiluang 061

Doiluang 062

เดินลงอย่างเดียวประมาณชั่วโมงกว่าจนมาถึงจุดพักชื่อว่า “ผานางจูบ” ตรงผาหินนี้มีน้ำไหลลงมา หากเราจะดื่มน้ำต้องเอาปากจูบก้อนหินจึงเป็นที่มาของชื่อ น้ำจากหน้าผามาจากตาน้ำ สะอาดเติมดื่มได้ครับ

Doiluang 063

Doiluang 064

จากนี้เราต้องเดินเลาะธารน้ำไปเรื่อยๆ เป็นน้ำตกชื่อว่าผาเกล็ดนาค มีทั้งหมดเก้าชั้น สามารถติดต่ออุทยานฯ ขอคนนำทางพาขึ้นไปค้างแรมบนน้ำตกชั้นบนสุดได้ ไว้โอกาสหน้าต้องมาลองสักหน่อย

Doiluang 065

Doiluang 066

เลาะตามลำน้ำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งแวะกินข้าวกลางวันบริเวณน้ำตกชั้นสี่ ชื่อว่าวังค้างคาว หลายคนลงเล่นน้ำให้ชุ่มฉ่ำเป็นการพักเหนื่อยไปด้วย

Doiluang 067

Doiluang 068

Doiluang 069

ขึ้นจากเล่นน้ำตกยังไม่ทันไรฟ้าก็ร้องโครมคราม พวกเรารีบเก็บของเตรียมเดินทางต่อแต่ไม่ทันกาล ฝนเทลงมาตูมใหญ่ เจ้าหน้าที่ร้องบอกให้รีบเดินเพราะสถานการณ์ฝนตอนนี้มีความเสี่ยงต่อน้ำป่า

พวกเราจ้ำอ้าวแบบลืมเหนื่อย แถมสักพักหนึ่งธารน้ำที่เคยใสกลับมีสีแดงขุ่นกระตุ้นให้เร่งฝีเท้ามากขึ้นอีก พวกเราเดินผ่านน้ำตกชั้นสาม ชั้นสอง กระทั่งถึงต้นน้ำตกชั้นแรกในเขตบ้านห้วยหม้อ ตำบลบ้านตุ่น ซึ่งมีรถอีแต๋นมารอรับ ฝนก็เริ่มซาลงพอดี

จับเวลาจากตอนเริ่มเดินขาลงแปดโมงเช้ากระทั่งถึงจุดรถจอดรับตอนเที่ยงครึ่ง ก็ราวสามชั่วโมงครึ่ง

รถอีแต๋นพาเราออกจากป่าลงมาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำรถกระบะมารับเราอีกต่อพาไปกินข้าวเที่ยง แล้วไปหน่วยพิทักษ์ฯ จำปาทอง เพื่ออาบน้ำอาบท่า ก่อนปิดภารกิจมาส่งเราที่ บขส. พะเยา

Doiluang 070

Doiluang 071

ไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะมีโอกาสกลับมาเที่ยวด้วยกันอีกหรือเปล่า จะเจอกันอีกหรือเปล่า แม้กระทั่งจะยังติดต่อกันหรือเปล่า เพราะต้องยอมรับครับว่าเวลาสั้นๆ เพียงสองวันหนึ่งคืน เรารู้จักกันเพียงผิวเผิน หนำซ้ำขวบวัยยังห่างกันค่อนข้างมาก ไลฟ์สไตล์แท้จริงของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

แต่อย่างไรก็เถอะต่อให้ไม่ได้พบกันอีก เราทั้งหกคนคงไม่มีทางลืมทริปแห่งความทรงจำครั้งนี้ลง

ดอยหลวง-ดอยหนอก จังหวัดพะเยา 29-30 มิถุนายน 2559


การเตรียมตัวพิชิตดอยหลวง-ดอยหนอก

  • อาหาร หากไปกลุ่มไม่ใหญ่ไม่ต้องเตรียมเยอะมาก ติดต่อทางอุทยานฯ นัดแนะดูว่าลูกหาบเตรียมเผื่อเราด้วยได้หรือไม่ เพราะลูกหาบและเจ้าหน้าที่จะทำอาหารกินอยู่แล้ว
  • น้ำดื่มเตรียมให้เพียงพอช่วงการเดินขึ้น ส่วนจุดกางเต็นท์ยอดดอยหลวง และดอยหนอก มีแหล่งน้ำให้เติม และมีน้ำให้เติมตามลำธารตลอดทางลง
  • บนยอดดอยหลวงและดอยหนอกมีต้นไม้ใหญ่ไม่มากนัก เหมาะกับการกางเต็นท์มากกว่าผูกเปลนอน ส่วนจุดค้างแรมที่ดอยหนอกมีเพิงหลังคาสังกะสี เข้าไปนอนด้านในได้
  • มีทากอยู่บ้างบริเวณทางเดินจากดอยหลวงสู่ดอยหนอก ควรเตรียมป้องกัน ถึงแม้กลุ่มผมตลอดทั้งทริปจะมีคนโดนทากดูดเลือดเสียอิ่มเพียงตัวเดียวครั้งเดียวก็ตาม
  • ขาลงเขาจะมีหญ้าคมบางอาจบาดมือและตามร่างกาย ควรสวมเสื้อแขนยาวและถุงมือเพื่อป้องกันหากเป็นไปได้

ค่าใช้จ่ายกับทางอุทยานฯ
ติดต่อหน่วยพิทักษ์ฯ จำปาทอง โทร. 092-713-2046, 080-853-6033

  • ค่าเข้าอุทยานฯ 20 บาท ต่อคน
  • ค่าธรรมเนียมพักแรม 30 บาท ต่อคน ต่อคืน
  • ค่ารถกระบะรับ-ส่ง 1,600 บาท
    (บขส. – จุดเดินขึ้น – บ้านห้วยหม้อ – หน่วยพิทักษ์ – บขส.)
  • ค่ารถอีแต๋นรับ-ส่ง 500 บาท
    (จุดเดินลง – บ้านห้วยหม้อ)
  • ค่าลูกหาบ 500 บาท ต่อคน ต่อวัน
  • ค่าเจ้าหน้าที่นำทาง 500 บาท ต่อคน ต่อวัน

ทริปผมหกคน เจ้าหน้าที่หนึ่งคน ลูกหาบสองคน ค่าใช้จ่ายรวม 5,400 บาท


ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller


About the author