
ทริปเดินทาง : 1-2 สิงหาคม 2563
สายน้ำโปรยในฤดูฝน คิดถึงป่าคิดถึงเขาคันเท้าตะหงิดๆ อยากหาเรื่องใส่ตัว ก็พอดีเพื่อนฝูงชวนเข้าป่าไปเที่ยว เขาแหลม สวนผึ้ง พอดิบพอดี ภูเขาชื่อไม่ดังแต่กำลังเริ่มได้รับความนิยม ว่ากันว่าป่าสวนผึ้งสวยสุดก็ฤดูนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องไปลองสักหน่อย
อ่านรีวิวเวอร์ชั่นเฟซบุ๊ก >>> https://bit.ly/34F131x
ขออธิบายครับว่าเขาแหลมเป็นยอดเขาลูกหนึ่งของอำเภอสวนผึ้ง เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี อยู่ไม่ไกลกับที่เที่ยวธรรมชาติดังๆ อย่าง เขากระโจม น้ำตกเก้าชั้น ธารน้ำร้อนบ่อคลึง แต่เพราะไม่ได้เปิดเป็นที่เที่ยวเต็มรูปแบบ คนส่วนมากเลยยังไม่รู้จัก มีเฉพาะกลุ่มนักวิ่งเทรลที่รู้กันดีว่าที่นี่เป็นสนามฝึกซ้อมชั้นดี มาวิ่งขึ้นเขาหลายสิบคนทุกสุดสัปดาห์

พื้นที่ป่าบริเวณนี้อยู่ในความดูแลของอุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริฯ สามารถขึ้นได้สองทางคือทางบ้านผาปก เขากระโจม กับบ้านห้วยน้ำขาว ต้องติดต่อชาวบ้านในพื้นที่นำทาง ซึ่งฝั่งผาปกติดต่อกลุ่มรักษ์เขากระโจมได้เลย ส่วนทางบ้านห้วยน้ำขาวติดต่อ คุณกี้ ชาวบ้านในพื้นที่ โทร. 0847626589

ทริปนี้เรารวมตัวสี่คนขึ้นทางห้วยน้ำขาว ขับรถจากกรุงเทพเช้าตรู่ พิกัดหาไม่ยากให้ตั้งแม็พมาที่ อู่หลง รีสอร์ท (ใช้เส้นทางที่ผ่านทางขึ้นเขากระโจมนะเพราะถนนสะดวกกว่าอีกทาง) เลยรีสอร์ทไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร จะเจอป้ายซอยบ้านห้วยน้ำขาว เลี้ยวขวาเข้าซอย 1 นิดเดียวก็ถึงป้ายบอกทางไป บ้านกี้ เขาแหลม ถนนดินขรุขระหน่อย ขับช้าๆ ระวังกันด้วย

พวกเราถึงที่หมายบ้านห้วยน้ำขาวราวสิบโมง จัดแจงเตรียมข้าวของสำหรับขึ้นเขาให้เรียบร้อย บริเวณบ้านคุณกี้มีลานจอดรถ ห้องน้่้ำ ขายของกินเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่บอกคือมีนักวิ่งเทรลมาซ้อมวิ่งกันสม่ำเสมอ


ขึ้นเขาเข้าป่าก็ต้องเตรียมเสบียงไปทำกินกันล่ะ สำหรับสี่คนเท่านี้ถือว่าเกินพอแล้ว

อีกสิ่งที่สำคัญคือประกันอุบัติเหตุ สำหรับผมหายห่วงครับเพราะปกติมีอยู่แล้ว “ประกันอุบัติเหตุ อุ่นใจวัยทำงาน” ของ เอไอเอส เหมาะกับคนต้องไปไหนมาไหนตลอดอย่างผม ทริปไหนก็สบายใจ แถมความจริงคือคุ้มครองทุกวันคุ้มครองตลอดเวลา นั่งเฉยๆ อยู่กับบ้านก็คุ้มครองครับ (ฮา…)
ซื้อประกันตัวนี้สะดวกมากครับ กดมือถือแป๊บเดียวเรียบร้อย หรือจะเปิดคอมเข้าเว็บซื้อก็ได้เหมือนกัน จ่ายผ่านเบอร์มือถือ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสูงสุดครั้งละ 50,000 บาท แบบไม่ต้องสำรองจ่าย หากเกิดอุบัติเหตุและต้องนอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) รับเงินชดเชยวันละ 500 บาท แล้วยังคุ้มครองหนี้ค้างชำระตามกฎหมาย 100,000 บาท แผนประกันมีให้เลือกหลายระดับ เบี้ยเริ่มต้น 118 บาท ต่อเดือน ใช้ประกันดีแบบนี้ก็สบายกันไป


สำหรับคนชอบใช้ชีวิต advanture อย่างพวกเรา เที่ยวป่าเขาให้อุ่นใจแนะนำเลย “ประกันอุบัติเหตุ อุ่นใจวัยทำงาน” ของ เอไอเอส ซื้อง่ายจ่ายผ่านเบอร์มือถือไม่ว่าค่ายไหนก็ซื้อได้หรือผ่านทางออนไลน์
เช็คแผนประกัน ประกันอุ่นใจวัยทำงาน คลิกที่นี่ >>> http://m.ais.co.th/NaiSongSamKaow
#ประกันเอไอเอส #ประกันอุบัติเหตุAIS #อุ่นใจวัยทำงาน #AISinsurance #วิริยะประกันภัย

พอพร้อมทุกอย่างแล้วก็ลุยโลด เริ่มเดินจากทางขึ้นเขาข้างบ้านคุณกี้ จับเวลาก้าวแรก 10.45 น. คนนำทางคือลุงฉุย ชาวบ้านห้วยน้ำขาวนี่แหละ ส่วนคุณกี้นำทีมสำรวจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีขึ้นไปติดกล้องถ่ายรูปสัตว์ป่า เดินขึ้นตั้งแต่เช้าล่วงหน้าเราไปแล้ว

เพราะเป็นทางวิ่งเทรล ทางขึ้นเขาแหลมจากบ้านห้วยน้ำขาวจึงชัดเจนไม่มีหลง สบายใจเรื่องนี้ได้ แต่ที่ต้องระวังคือที่นี่เป็นป่าไผ่ ช่วงหน้าฝนมีไม้ล้มไผ่ล้มขวางทางค่อนข้างมาก เดินเพลินๆ ลืมตัวอาจเกิดอุบัติเหตุง่ายๆ


ทางอัพแอนด์อัพขึ้นไปตามแนวเขาสลับกับทางราบยาวบางช่วงพอให้เบาขาเล็กน้อย แต่ที่ไม่เบาเลยคือสัมภาระของเรานี่แหละ คืนเดียวจะแบกอะไรมาเยอะแยะกันนะ (ฮา…)

ระยะทางขึ้นเขาแหลมเส้นนี้ประมาณ 3.8 กิโลเมตร ถือว่าไม่ไกล ผมเลยใช้เวลาเอ้อระเหยเห็นอะไรสวยๆ น่าสนใจก็แวะถ่ายรูปพร้อมพักเหนื่อยไปด้วยในตัว สองข้างทางมีหลายจุดสวยเขียวสดชื่นดีครับ




แล้วไม่ต้องกลัวเหงา ขึ้นเขาวันเสาร์อาทิตย์แบบนี้จะได้ทักทายนักวิ่งน่องเหล็กตลอดทาง บางคนวิ่งลงมาสวนทางกับเรา แล้วอีกสักพักก็วิ่งแซงเรากลับขึ้นไปยอดเขาอีกรอบ โอ้ว… ขอคาราวะให้เลย

จุดนี้่ทางค่อนข้างชัน มีเชือกให้ยึดผยุงแรงเล็กน้อย

บ่ายโมงเศษๆ แบกเป้แบบหลังแอ่นมาเจอกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าซึ่งเพิ่งได้รับการติดตั้งสดๆ ร้อนๆ ว่ากันว่าในป่าสวนผึ้งยังมีสัตว์ป่าหลากหลาย รวมทั้งเลียงผาและหมีด้วยครับ

เลยจากจุดติดกล้องมาไม่ไกลก็ถึงจุดตั้งแคมป์หลัก ซึ่งเรามาพบคณะของคุณกี้และอาจารย์จากเทคโนฯ พระจอมเกล้าธนบุรีพอดี เป็นจุดเหมาะที่สุดเพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำที่ว่าเป็นแอ่งน้ำซับเล็กๆ ยิ่งฝนตกน้อยน้ำก็มีอยู่นิดเดียวแถมน้ำนิ่งขุ่นขลั่ก ผมจึงขอสรุปใช้คำว่าบนนี้ไม่มีน้ำดีกว่า เราเองโชคดีที่สำรองน้ำดื่มกันมาคนละ 2-3 ขวดใหญ่


เราคุยกันว่าจะขอไปดูที่ทางบนยอดเขาสักหน่อยว่าจะนอนตรงไหนกันเลยแบกเป้เดินต่อ ทางขึ้นอีกเรื่อยๆ สัก 500 เมตร

แต่ขึ้นมาแล้วยังไม่ต้องตรงดิ่งไปยอดเขานะครับ เพราะมีจุดชมวิวเด็ดอยู่ที่ผาหินระหว่างทางแบบห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง ถือเป็นแลนด์มาร์คเด็ดๆ ของเขาแหลมเลยล่ะ

ไม่มีคำบรรยายใดๆ สักคำให้ลึกซึ้ง บอกเลยว่าถึงเขาแหลมจะไม่สูงมาก แต่วิวทิวทัศน์เลอค่าสุดๆ



มาชมวิวที่ผาหินต้องปีนป่ายสักหน่อย คนกลัวความสูงบอกเลยว่ามีเสียว ระมัดระวังกันให้มากนะครับ ถ่ายรูปได้ หามุมได้ แต่อย่าทำแบบเกินเหตุ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ



มองไปฝั่งตรงข้ามคือผืนป่าสีเขียวกับภูเขาซึ่งเป็นลูกเดียวกับเขากระโจมนั่นเอง หมอกฝนกำลังลอยปกคลุมยอดเขาสดชื่นมาก


เราสี่คนใช้เวลานั่งเล่นชมวิวถ่ายรูปที่ผาหินนานกว่าชั่วโมง ระหว่างนั้นมีนักวิ่งเทรลมาเป็นระยะ บางคนบอกว่ามาซ้อมเทรลหลายหนแต่เพิ่งรู้ว่ามีจุดชมวิวสวยตรงนี้ แถมที่รู้ก็เพราะเห็นพวกเราเฮฮาถ่ายรูปกันอยู่นี่เอง
เราขึ้นมาถึงตรงนี้ประมาณบ่ายสองโมงเศษ สรุปเวลาเดินราวสามชั่วโมงครึ่งกับระยะทางเกือบสี่กิโลเมตรแบบไม่รีบร้อน ถือว่าไม่หนักหนาเกินไปครับ อย่างที่บอกคือเวลาเท่านี้นักวิ่งบางคนขึ้นลงสองรอบเรียบร้อย (ฮา…)
เสพวิวจนอิ่มหนำแล้วได้เวลาแบกเป้ขึ้นยอดเขาแหลมกัน อีกนิดเดียวเท่านั้นแหละ

บนยอดเขาแหลมเห็นวิวเปิดโล่งแบบพาโนราม่า สวยไม่น้อย ยิ่งช่วงนี้สดชื่นสมกับเป็นฤดูฝน


แต่ถ่ายรูปกันได้สักพักทั้งหมอกทั้งเมฆก็ลอยจากฝั่งเขากระโจมมาปกคลุมทั้งยอดเขาแหลม พร้อมกับลมโหมกระหน่ำระดับสิบบวกๆ เล่นเอาคนยืนแทบปลิว ตามต่อด้วยเม็ดฝนหล่นลงมาให้เปียกปอนไปตามกัน

เพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ ลุงฉุยเลยบอกว่าพวกเราควรกลับลงไปกางเต็นท์กันด้านล่าง นอนข้างบนเสี่ยงอันตรายเกินไป ลุงว่ายังไงเราก็ว่ากัน และจากนั้นฝนก็ตกไม่เลิก ตกไม่หยุด ต้องตั้งแคมป์ทำกับข้าวกันแบบเปียกๆ จนมืดค่้ำที่พวกเราแยกย้ายขึ้นเปลใครเปลมัน
รุ่งเช้าความหวังจะชมทะเลหมอก ชมแสงพระอาทิตย์หายวับแบบไม่ต้องติดเพราะทุกอย่างขาวโพลน พวกเราทำอาหารกินง่ายๆ เก็บเต็นท์เก็บเปลที่เปียกปอนยัดลงกระเป๋า

มาถึงบนนี้แล้วจะลงทางเดิมมันคงง่ายไป พวกเราเลยเลือกเดินลงทางน้ำตกเก้าชั้น ซึ่งบอกได้ว่า… ยับเยินชนิดสุดจัดปลัดยังต้องร้องโอ๊ย ลากลงกันยาวๆ ตากฝนตลอดทางกับสภาพดินร่วนๆ เละๆ ลื่นๆ เดินตุปั๊ดตุเป๋เดี๋ยวลื่นเดี๋ยวล้ม เดินๆ อยู่เทกระจาดลงไปกองกับพื้นซะอย่างนั้น



เดินไปก็อายลุงฉุยไป เพราะลุงอายุหกสิบกว่าๆ กับรองเท้าสตั๊ดดอยหนึ่งคู่ ถุงกระสอบแบกบนหลัง เดินลิ่วๆ ทิ้งพวกเราที่แบกเป้เดินป่าใบละหลายพัน รองเท้าเดินป่าอย่างดีแบบตามไม่ทันเลยทีเดียว

จับเวลาตอนลงจากยอดเขา 9.20 น. ผ่านมาสองชั่วโมงเป๊ะ เรามาถึงต้นผึ้งสูงใหญ่ ต้นไม้ชนิดนี้แหละเป็นที่มาของชื่อสวนผึ้ง

แล้วในที่สุดก่อนบ่ายโมงสักสิบนาที กับระยะทางที่ผมคะเนเอาว่าประมาณ 7-8 กิโลเมตร เราก็โผล่ออกมาที่น้ำตกเก้าชั้นระหว่างชั้น 8 กับ 9 ในแบบสภาพสะบักสะบอมเปียกตั้งแต่ปลายผมยันปลายเท้า แถมฝนยังไม่มีท่าว่าจะหยุดตก นี่ถ้ามาช่วงฝนไม่ตกอากาศร้อนๆ คงอยากเล่นน้ำให้ฉ่ำใจ แต่สำหรับเราตอนนี้อยากหลบเข้าไปอยู่ในที่แห้งมากกว่าสินะ


เหลืออีกหนึ่งเฮือกคือการเดินลงไปน้ำตกชั้นล่าง ซึ่งตรงนี้เป็นทางเดินทำไว้สำหรับท่องเที่ยวอยู่แล้ว สุดสัปดาห์แบบนี้ถึงฝนจะตกก็ยังมีคนพอประมาณ เราที่แบกเป้ใบเบ้อเริ่มเดินลงมาย่อมกลายเป็นจุดสนใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ฮา…)
ขยะทุกชิ้นนำมาจากบนเขาแหลมด้วยนะครับ ถึงด้านล่างน้ำตกเก้าชั้นจะมีจุดทิ้งขยะค่อยมาจัดการแยกขยะรีไซเคิลกับขยะสดทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง จากน้ำตกคุณกี้จะติดต่อให้รถมารับเรากลับไปส่งที่บ้านห้วยน้ำขาว อาบน้ำอาบท่า เป็นอันปิดทริปพิชิตเขาแหลมกลางฤดูฝนแบบสะใจกันไป

ตอนนี้เนื่องจากนักท่องเที่ยวสายเดินป่าแคมปิ้งมากขึ้น ผมได้คุยกับพี่สุเทพ หัวหน้าอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ ว่าอีกไม่นานคงได้มีการเรียกประชุมชาวบ้านในพื้นที่มาพูดคุยเพื่อหาแนวทางพัฒนาและรักษาพื้นที่ พร้อมวางกฏระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้นต่อไป
เขาแหลม ป่าตะนาวศรี ป่าสวนผึ้ง เดินสนุก เดินทางไม่ไกลกรุง วิวสวยไม่แพ้ที่ไหน สำหรับผมแล้วเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการเที่ยวแบบลุยๆ ในช่วงฤดูฝนครับ

เที่ยวป่าเขาให้อุ่นใจแนะนำเลย “ประกันอุบัติเหตุ อุ่นใจวัยทำงาน” ของ เอไอเอส ซื้อง่ายจ่ายผ่านเบอร์มือถือไม่ว่าค่ายไหนก็ซื้อได้ หรือซื้อผ่านทางออนไลน์
เช็คแผนประกัน ประกันอุ่นใจวัยทำงาน คลิกที่นี่ >>> http://m.ais.co.th/NaiSongSamKaow
รับรองว่าไม่ว่าจะป่านี้หรือป่าไหนก็อุ่นใจทุกป่าครับ
รู้สักนิดก่อนเที่ยวเขาแหลม
– พื้นที่อยู่ในความดูแลของอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ
– สามารถขึ้นและลงได้ภายในวันเดียวจากบ้านห้วยน้ำขาว
– ขึ้่นและลงได้เองในกรณีไม่ค้างแรม ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
– หากต้องการค้างแรมต้องมีชาวบ้านดูแล ติดต่อคุณกี้ 0847626589
– บนเขาไม่มีแหล่งน้ำ หากค้างแรมควรเตรียมตัวให้พร้อม
– ค่าใช้จ่ายกรณีค้างแรม มีค่าคนนำทาง 500 บาท ต่อคนต่อวัน และค่าลูกหาบ (หากต้องการ) 500 บาท ต่อคนต่อวัน
– อนุญาตให้กางเต็นท์ในจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ควรกางบนยอดเขาเนื่องจากเป็นจุดชมวิว ถ่ายภาพ และสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม
– ปัจจุบันอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ เตรียมวางแผนจัดระเบียบการท่องเที่ยวให้ชัดเจน เพื่อให้เหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศึกษาธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้ชุมชน
ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
https://www.facebook.com/alifeatraveller
