ดอยปุยหลวง บ้านห้วยฮี้ พาโนรามาวิว ทะเลภูเขาเมืองแม่ฮ่องสอน

ทริปเดินทาง : 12-14 ตุลาคม 2562

แม่ฮ่องสอน… จังหวัดใหญ่ที่หลายคนยังไม่เคยเดินทางไปถึง จะไปถึงได้อย่างไรล่ะ เพราะว่ากันตามตรง แม่ฮ่องสอนคงเป็นจังหวัดไกลปืนเที่ยงและเข้าถึงยากที่สุดของประเทศ ถ้าไม่ตั้งใจไปจริงๆ ไม่มีทางถึง นั่นแหละพอเพื่อนเอ่ยปากชวนไปเที่ยวป่า “ดอยปุยหลวง” แม่ฮ่องสอน กันไหม ผมเลยรีบตกปากรับคำแทบทันที ตัวเองก็ไม่เคยสัมผัสป่าแม่ฮ่องสอนเต็มๆ เหมือนกัน

ดอยปุยหลวง จะว่าไปชื่อนี้ค่อนข้างโหลนะ เฉพาะแม่ฮ่องสอนก็มีหลายปุย ที่เราไปคือดอยปุยหลวง บ้านห้วยฮี้ อำเภอเมือง ชุมชนชาวกะเหรี่ยงปกาเกาะญอ ซึ่งอาจเห็นว่าเพราะอยู่อำเภอเมืองคงเป็นดอยไม่ไกล เดินทางไม่ลำบาก แต่ต้องขอหัวเราะแห้งๆ หากใครคิดเช่นนั้น เพราะอย่างที่บอกคือเมืองแม่ฮ่องสอนนั้นไกลแสนไกล ไกลสุดกู่เหลือเกิน

อีกหนึ่งเรื่องที่อยากให้รู้คือดอยปุยหลวงอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ทว่าด้วยเป็นพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม ชาวบ้านจึงเป็นผู้ดูแลและจัดการเรื่องการท่องเที่ยว ที่นี่มีที่พัก โฮมสเตย์ นำเที่ยวธรรมชาติ ถือว่าครบวงจรเหมือนกัน


(1)

ทริปนี้พวกเราเดินทางเจ็ดคน ใช้วิธีนั่งรถทัวร์ไปเชียงใหม่ แล้วต่อรถตู้เข้าแม่ฮ่องสอน จากนั้นค่อยเหมากระบะชาวบ้านห้วยฮี้ให้มารับจากตัวเมืองเข้าหมู่บ้าน

ความจริงมีรถทัวร์ กทม. – แม่ฮ่องสอน ของสมบัติทัวร์ให้บริการทุกวันครับ วันละสองเที่ยว แต่ด้วยเวลาของพวกเราไม่สะดวกนัก ทำให้ต้องใช้แผนนี้คือนั่งรถไปลงเชียงใหม่ ซึ่งมีรอบรถเยอะแยะมากมาย แล้วค่อยต่อเข้าแม่ฮ่องสอนอีกที

ถึงไกลแค่ไหน อย่างน้อยพวกเราก็เดินทางได้ตามแผน จากเชียงใหม่ตั้งแต่เช้า ต่อถึงเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณเที่ยง จากนั้นจัดแจงหาซื้อข้าวของที่ยังขาด กินข้าวกลางวันให้เต็มอิ่ม อีกพักใหญ่รถของชาวบ้านห้วยฮี้ที่ติดต่อนัดหมายไว้ก็มารับ

บ้านห้วยฮี้ห่างจากตัวเมืองแค่ 30 กว่ากิโล แต่การจะไปถึงไม่ง่ายอย่างนั้นต้องใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ เป็นทางขึ้นเขาลงเขา บางช่วงเป็นลูกรัง ดินแดง ใช้ความเร็วไม่ได้มาก โดยเฉพาะหน้าฝนต้องอาศัยโฟร์วีลกันเลย ส่วนรถกระบะธรรมดาบางช่วงถ้าดินเละก็ต้องพันโซ่กันเลย

ออกเดินทางเมื่อคืนตั้งแต่สามทุ่ม เรามาถึงบ้านห้วยฮี้ราวบ่ายสามกว่าๆ ในหมู่บ้านช่วงนี้มองไปทางไหนก็เขียวสบายตา เราเข้าไปพักผ่อนและจัดเตรียมสัมภาระอยู่ที่บ้านของคนขับรถรับส่งนั่นแหละ

… ก่อนที่ฝนจะตกลงมาโครมใหญ่โดยไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดง่ายๆ

รอแล้วรอเล่า รอแล้วรออีก จนชักเริ่มกังวลว่าถ้าตกไม่หยุดแบบนี้ เราอาจจะต้องนอนค้างกันที่หมู่บ้านหรือเปล่า จนเกือบห้าโมงเย็นโน่นแหละครับกว่าเม็ดฝนจะเริ่มบางจนกระทั่งหยุดตกในที่สุด

โอกาสมาแล้วต้องรีบหน่อย ขึ้นเป้ ขึ้นรถ ใช้เวลาอีกสัก 15 นาที นั่งรถไปจุดเริ่มเดินซึ่งอยู่บนเขาขึ้นไป

นี่แหละครับทางขึ้นยอดปุยหลวง อยู่ริมถนนแบบนี้ เดินขึ้นไปนิดเดียวจะเจอป้ายบอกกฎระเบียบสำหรับการเที่ยวชมธรรมชาติของชุมชน

ระยะทางเดินจากจุดนี้ขึ้นสู่ยอดดอยปุยหลวงไม่ถือว่าไกล ประมาณคร่าวๆ ด้วยตัวเองสัก 2 กิโลเมตร ก็ถึงจุดตั้งแคมป์ จากนั้นอีก 500 เมตร ก็ถึงยอด พวกเราเริ่มเดิมกันห้าโมงครึ่ง ยังไม่ถึงชั่วโมงครึ่งก็ถึงที่ตั้งแคมป์ ฝ่าความมืดมานิดหน่อยแต่เส้นทางชัดเจนไม่มีปัญหาอะไร หน้าฝนก็ลื่นบ้างเละบ้างนิดหน่อยให้ตุปัดตุเป๋พอหอมปากหอมคอ

คืนนี้เหนื่อยเดินทางกันมาเยอะ พวกเราจัดแจงตั้งแคมป์ ทำอาหารกิน นั่งล้อมวงคุยกันอีกสักพักหนึ่งก็แยกย้ายเข้านอน กลางเดือนตุลาคมอากาศยังไม่สัมผัสถึงความหนาว เพียงแค่เย็นๆ จากความชื้นของฤดูฝน


(2)

ตั้งนาฬิกาปลุกตีห้าครึ่ง ตื่นมากดทิ้งเลื่อนเวลาอีกสิบนาทีตามฟอร์ม (ฮา…) แต่ถึงอย่างนั้นผมยังเป็นคนแรกที่ส่งเสียงเอะอะโวยวายปลุกทุกคนให้เดินขึ้นสู่ยอดดอยปุยหลวงเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า

อย่างที่บอกครับว่าจากจุดตั้งแคมป์ขึ้นยอดดอยปุยแค่ 500 เมตร เดินไม่กี่หอบเท่านั้น และขึ้นมานิดเดียวก็จะพ้นแนวป่าสู่ยอดเขาซึ่งเป็นทุ่งหญ้าโล่งแล้วล่ะ บอกเลยว่าวิวบนนี้ว้าวมาก มีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มมากางเต็นท์กันด้วย

สองยอดทางนี้ ยอดที่เห็นไกลๆ เรียกว่ายอดหงอนไก่ ถ้าเดินไปยอดตรงนั้นจะมีทางตัดลงหมู่บ้านห้วยฮี้ตรงแถวๆ บ้านของคนขับรถรับส่งของเรา เป็นเส้นทางที่สามารถเดินได้ด้วยเช่นกัน

วันนี้หมอกอาจไม่แน่น มีทะเลหมอกเป็นแอ่งอยู่ตามหุบไกลๆ แต่ว่าแสงเช้าถือว่าสวยเอาการ นอกจากนี้ยังมองเห็นวิวทั้ง 360 องศา เป็นแบบ 360 องศาจริงๆ ความสูงประมาณ 1,700 เมตร บวกนิดๆ หลายข้อมูลบอกว่าเป็นยอดเขาสูงสุดของแม่ฮ่องสอน แต่เอาจริงๆ ผมเชื่อว่ามีสูงกว่านี้ครับ ประสบการณ์มันบอก (ฮา…)

เอาเป็นว่าเรื่องสูงที่สุดผมไม่คอนเฟิร์มเพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิงอย่างเป็นทางการ แต่เรื่องความสวยเอาผมเป็นตัวอ้างอิงได้เลยว่างามสะดุดใจมาก

บนยอดปุยหลวงมีหมุดและป้ายของทหารเสือราชินีหลายป้าย จากที่สอบถามคนขับรถของเราที่ขึ้นมาเป็นเพื่อนด้วย เขาเล่าให้ฟังว่าป่าบริเวณนี้เป็นจุดฝึกของทหารเสือราชินี (กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์) มาฝึกความทรหด ยุทธวิธี และวิธีเอาตัวรอดในป่า เริ่มต้นปล่อยตัวกระจัดกระจายตามหมู่บ้านต่างๆ ใช้เวลาเดินเท้าสองวันสามวันจนขึ้นมาพิชิตยอดดอยปุยหลวง

โชเฟอร์ปกาเกอะญอของเราให้เล่าให้ฟังต่อว่า ที่นี่มีชื่อภาษากะเหรี่ยงซึ่งผมพยายามเขียนเป็นภาษาไทยได้ว่า “เจาะจั๊วะโค” ความหมายประมาณว่ายอดที่เขาหลายลูกมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วยังบอกต่อว่าสมัยเขาเด็กๆ ยอดปุยหลวงเป็นทุ่งหญ้ากว้างเลยล่ะ แต่เดี๋ยวนี้มีการเอาดอกบัวตองมาปลูกไว้จนเริ่มแพร่พันธุ์กินพื้นที่ไปไกลพอสมควร

หลายคนอาจรู้กันนะครับว่าดอกบัวตองถึงจะเป็นพืชที่มีดอกเหลืองสวย แต่อีกด้านถือเป็นดอกไม้ต่างถิ่นที่รุกรานพืชฉพาะถิ่นอย่างรุนแรง ในหมู่บ้านห้วยฮี้เองยังมีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝั่ง คือกลุ่มที่อยากให้ปลูกบัวตองเพื่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวเหมือนดอยแม่อูคอ กับกลุ่มที่อยากให้คงสภาพเป็นยอดเขาทุ่งหญ้าเหมือนเดิม

ดอยปุยหลวงเปิดโล่ง อยากเดินเล่นดูวิวตรงไหนก็เอาตามสะดวก พวกเราเองก็เพลินตะลอนๆ ไปทั่วด้วยเหมือนกัน มองมุมไหนก็สวยไปหมด

จนเกือบสิบโมงนั่นแหละ ผมถึงลงจากยอดปุยหลวงกลับไปที่แคมป์ ได้ถ่ายภาพตอนสว่างมาให้เห็นสักทีนะ (ฮา…) มีหลายจุดสำหรับการกางเต็นท์ครับ รวมถึงศาลาสำหรับพักแรม

ไม่ไกลจากแคมป์มีแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงห้องน้ำที่เป็นส้วมหลุมไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วยครับ

อันที่จริงการเที่ยวยอดปุยหลวง บ้านห้วยฮี้ ตามปกติมีเท่านี้แหละครับ จากนี้เดินลงทางเดิมหรือเลาะลงทางดอยหงอนไก่ก็ได้ แต่พวกเราพิเศษหน่อยเพราะตั้งใจมาแคมปิ้งสองคืนเลยไม่ต้องรีบร้อน ใช้เวลาชิลๆ ทำกิจกรรมชาวแคมป์ตามปกติ

กิน เล่น พูดคุย พักผ่อน หลบฝนที่ตกหนักบ้างเบาบ้างเป็นระยะกันตามอัธยาศัย สักบ่ายสองครึ่งผมค่อยเปลี่ยนรองเท้าอีกครั้ง คราวนี้เพื่อเดินขึ้นยอดหงอนไก่ เพราะพวกเราตกลงกันแล้วว่าพรุ่งนี้กลับลงทางเดิม ใครอยากชมวิวที่หงอนไก่ต้องไปซะตอนนี้แหละ

ระหว่างทางก็ลัดเลาะไปมา ขึ้นเนินบ้าง อ้อมเนินบ้าง ป่าโปร่ง เส้นทางค่อนข้างชัดเจน ระหว่างทางหมอกมาบ้าง ฝนมาบ้าง ก็ว่ากันไป

สักชั่วโมงแบบเดินๆ พักๆ เล่นๆ ในที่สุดก็มาหยุดตรงนี้ ดอยสูงๆ ก่อนถึงหงอนไก่ เห็นหงอนไก่อยู่ตรงหน้านี้แหละ แต่ว่าไม่ไปต่อแล้วเพราะวิวเท่าที่เห็น ณ เวลานี้คือสุดยอดมากครับ

หมอกขาวทั้งซ้ายทั้งขวา เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ถ่ายรูปฝั่งนี้เสร็จอีกฝั่งกลายเป็นทะเลหมอกใหม่ พอหันกลับไปถ่ายตรงนั้นอีกรอบ ตรงนี้หมอกก็ไหลมาอีกรอบ เป็นความสวยสุดๆ ของเสน่ห์ป่าหน้าฝนเชียวล่ะ

ฝั่งนี้คือยอดดอยปุยหลวงครับ ยอดเขาคือที่โล้นๆ เกลี้ยงๆ ทางขวาสุดของภาพ

หลังดื่มด่ำทะเลหมอกหลังฝนจนหนำใจ ห้าโมงกว่าก็เดินลงกลับไปยังจุดตั้งแคมป์ และใช้เวลาที่เหลือในการทำอาหาร กินข้าว ล้อมวงเฮฮาสังสรรรค์ตามประสาชาวแคมป์กันไป

เช้าวันสุดท้ายพวกเราตื่นกันสายๆ ไม่มีใครคิดขึ้นยอดดอยปุยหลวงอีกรอบรวมทั้งผมด้วย (ฮา…) กว่าจะกินข้าว เก็บแคมป์ เดินลงจากดอยก็ราวเก้าโมงครึ่ง ถึงข้างล่างสิบโมงกว่าๆ แล้วค่อยโบกมืออำลาบ้านห้วยฮี้กัน

สมาชิกทีมใหญ่เหมารถคันเดิมนี่แหละพาไปเที่ยวบ้านจ่าโบ่ ปางมะผ้า ส่วนผมขอแยกเดี่ยวอยู่เที่ยวในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนต่ออีกสักสองคืน เพราะเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่มีโอกาสเข้ามาในตัวเมืองแบบนี้

หากจะถามว่าดอยปุยหลวงสวยหรือเปล่า เพียงแค่ย้อนกลับไปดูภาพที่ถ่ายมาก็คงต้องบอกว่าคุ้มค่ามากแล้วล่ะ เดินทางแสนไกลแต่เดินเท้าใกล้นิดเดียว ที่สำคัญคือยังเหมาะกับสายแคมปิ้งทุกแนว ถ้าต้องการพักโฮมสเตย์ทางหมู่บ้านก็มีให้บริการ หรืออยากกางเต็นท์พักแรมบนเขาก็ทำได้ เรียกว่าเลือกแบบที่ใช้แบบที่ชอบกันตามสะดวก

ดอยปุยหลวง บ้านห้วยฮี้ แม่ฮ่องสอน สักครั้งที่สายธรรมชาติน่ามาเยือนจริงๆ ครับ


ข้อมูลสักนิดสำหรับการท่องเที่ยว

  • ดอยปุยหลวงอยู่ที่บ้านห้วยฮี้ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร
  • การท่องเที่ยวอยู่ในความดูแลของชุมชน มีโฮมสเตย์แท้ๆ ให้บริการกรณีไม่นอนบนเขา ค่าเข้าพักคนละ 100 บาท ค่าอาหารมื้อละ 70 บาท ค่าไกด์ท้องถิ่นนำเที่ยวบนเขา 150 บาท ลูกหาบ 500 บาท
  • รถกระบะรับส่ง ตัวเมือง-บ้านห้วยฮี้ เที่ยวละ 1,500 บาท หรือมากกว่าหากฝนตกเดินทางลำบาก
  • ในหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ มีสัญญาณเฉพาะค่ายทรูในพื้นที่เล็กๆ
  • ติดต่อท่องเที่ยว ผู้ใหญ่บ้านหม่าบื่อ โทร. 0810235661 หรือชมรมนำเที่ยว 0864327255
  • การเดินขึ้นแคมป์พักแรม ระยะทาง 2 กม. ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
  • การเดินขึ้นยอดดอย ระยะทางประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  • แคมป์บนไหล่เขามีศาลาสำหรับพักแรม มีห้องน้ำส้วมหลุม และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • บนแคมป์เหมาะกับการกางเต็นท์ (สามารถกางในศาลา) ที่ผูกเปลก็มีเช่นกัน แต่ค่อนข้างน้อย ต้นไม้ส่วนใหญ่ค่อนข้างเล็ก
  • สัญญาณโทรศัพท์ที่แคมป์พักแรมมีเฉพาะของทรูเท่านั้น บนยอดดอยมีทรู กับ AIS 

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
www.facebook.com/alifeatraveller

About the author