คู่มือท่องเที่ยว ชัยภูมิสีเขียว เที่ยวทุ่งกะมัง

ทุ่งกะมัง-000

อัพเดตข้อมูลล่าสุด : 29 สิงหาคม 2559

ทุ่งหญ้าเขียวขจี ถิ่นของเนื้อทรายฝูงใหญ่ เรื่องความสวย ทุ่งกะมังอาจไม่เลิศหรูอลังการ แต่เรื่องธรรมชาติควรค่าศึกษา ที่นี่น่าสนใจมากมาย เป็นอีกหนึ่งที่แนะนำให้คนรักธรรมชาติลองมาเที่ยวดู ช่วงฝนแหละเหมาะนัก ทุ่งหญ้าเขียวสดชื่นเชียวครับ


อยู่ที่ไหน
– ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อำเภอคอนสาร ชัยภูมิ ใกล้กับเขื่อนจุฬาภรณ์ แต่เป็นปลายชัยภูมิ ห่างตัวจังหวัดตั้ง 160 กิโลเมตร ขณะที่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น 150 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอหล่มสัก เพชรบูรณ์ 140 กิโลเมตร


คืออะไร
– ทุ่งกะมังเป็นชื่อของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ซึ่งโอบล้อมด้วยแนวป่า เป็นแหล่งหากินของสัตว์เท้ากีบพวก กวาง เก้ง โดยเฉพาะเนื้อทรายพบปริมาณมากที่สุด เราจะเห็นพวกมันหากินอยู่ที่ทุ่งตลอดทั้งวัน อันเป็นผลมาจากโครงการปล่อยสัตว์คืนถิ่นเมื่อราวสามสิบปีก่อน
ทุ่งกะมัง-004

ทุ่งกะมัง-003


เกิดขึ้นได้อย่างไร
– ทุ่งหญ้ากลางป่าไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแน่นอน อดีตพื้นที่บริเวณนี้ถูกแผ้วถางเพื่อการเกษตร ต่อมาจึงมีการประกาศจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์ฯ อพยพชาวบ้านไปอยู่ถิ่นฐานอื่น ทุกวันนี้ทุ่งหญ้ามีขนาดเล็กลงเนื่องจากการเติบโตเข้ามาของป่าโดยรอบ

ทุ่งกะมัง-001

ทุ่งกะมัง-008


ไปยังไง
– จากปากทางด่านเก็บเงิน หน่วยพิทักษ์ฯ ปางม่วง เราต้องขับรถเข้าป่าอีก 25 กิโลเมตร ดังนั้นจึงเดินทางได้ด้วยรถส่วนตัวเท่านั้น ถนนลาดรถเก๋งวิ่งสบาย ส่วนมอเตอร์ไซค์ไม่อนุญาตให้เข้า และการเดินทางด้วยรถสาธารณะไม่สะดวกอย่างยิ่ง เพราะแม้จะมีรถสองแถวชุมแพ-เขื่อนจุฬาภรณ์ วิ่งผ่านหน้าด่านเก็บเงิน แต่การจะหารถโบกเข้าไป ที่นี่นักท่องเที่ยวไม่เยอะนะ

ทุ่งกะมัง-007


ใช้เส้นทางไหน
– ใครไฮเทคให้ตั้งจีพีเอสไป “เขื่อนจุฬาภรณ์” อย่าตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพราะมันจะพาหลงไปอำเภอหนองบัวแดงโน่นเลย หากมาจากตัวเมืองชัยภูมิให้ใช้เส้นทางผ่านอำเภอแก้งคร้อ อำเภอภูเขียว เข้าสู่อำเภอคอนสาร จะสะดวกที่สุด

ส่วนจากฝั่งอำเภอชุมแพ ขอนแก่น หรืออำเภอหล่มสัก เพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 ยิงยาวมาเข้าเขื่อนจุฬาภรณ์ที่อำเภอคอนสาร ไม่ว่าจะมาทางไหนตามป้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ไว้รับรองไม่มีหลง


เปิด-ปิดกี่โมง
– เปิดให้เที่ยวทุกวัน ทั้งแบบค้างแรมและวันเดียว ด่านตรวจทางเข้าเขตฯ ที่หน่วยพิทักษ์ปางม่วงเปิดตั้งแต่ 6.00-16.30 น. สำหรับคนที่ไม่ได้พักไม่ควรอยู่เที่ยวจนเย็นเกินไป


ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่
– ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็กและนักศึกษา 10 บาท เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และภิกษุ เข้าฟรี รถยนต์คันละ 30 บาท ชาวต่างชาติคนละ 200 บาท


พักที่ไหน
– ภายในเขตฯ มีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ ถ้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจะระบุว่าต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าพักไปที่กรมอุทยานฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน โธ่… นั่นมันข้อมูลสมัยพระเจ้าเหายังหนุ่มล่ะมั้ง

หากเป็นการท่องเที่ยวทั่วไปกับเพื่อน แฟน ครอบครัวเล็กๆ สามสี่คน ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือ แค่แจ้งทางเขตฯ ล่วงหน้าว่าจะเข้าพักตอนไหน ไปกันกี่คน สักหนึ่งสัปดาห์ก่อนไปเที่ยวก็พอ เช่นเดียวกับการกางเต็นท์ที่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สักหน่อย อยากให้ชัวร์โทรศัพท์ถามทางเขตฯ ได้เลย 084-334-0043 (ถ้าเป็นช่วงเทศกาลหรือหยุดยาวอาจต้องทำหนังสือล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่)

บ้านพักของเขตฯ ไม่ได้สะดวกสบายแต่มีห้องน้ำในตัว ไฟฟ้าเปิดประมาณหกโมงเย็นถึงสามทุ่ม สัญญาณโทรศัพท์มีบริเวณโดยรอบสำนักงานเขตฯ

ทั้งบ้านพักและการกางเต็นท์ไม่มีการกำหนดค่าบริการ แล้วแต่เราให้เป็นสินน้ำใจตามสมควร

สำหรับคนไม่ต้องการพักด้านใน สามารถหาที่นอนใกล้ๆ ที่เขื่อนจุฬาภรณ์ มีบ้านพักสบายหลายราคา เริ่มต้น 600 บาท มีร้านอาหารเปิดทุกวัน 7.00 – 20.00 น. โทรศัพท์จองบ้านพัก 085-419-4464 หรือ 087-951-8308
ทุ่งกะมัง-011

ทุ่งกะมัง-012

ทุ่งกะมัง-013

ทุ่งกะมัง-010


กินอะไร
– ในเขตฯ มีร้านสวัสดิการขายของจิปาถะ เปิด-ปิดตามแต่เจ้าหน้าที่ว่างดูแล (ฮา…) ส่วนร้านอาหารไม่มี หากเรามาพักแล้วต้องการทานอาหารให้แจ้งกับทางเขตฯ เพื่อจัดเตรียมล่วงหน้า มีบริการอาหารเย็นและอาหารเช้า ราคา 75 บาท ต่อคน ต่อมื้อ
ทุ่งกะมัง-014


เที่ยวอะไร
– ทุ่งกะมัง อยู่ห่างจากสำนักงานเขตฯ และบ้านพักประมาณหนึ่งกิโลเมตร เดินก็ได้ ขับรถก็ได้ จะพบเห็นเนื้อทรายหากินกันตามธรรมชาติฝูงใหญ่ ช่วงเหมาะคือตอนเย็นๆ ส่วนกลางคืนมาดูดาวกันได้ วันฟ้าเปิดรับประกันความอร่ามพราวระยับ

– ส่องสัตว์กลางคืน ติดต่อรถพาไปส่องสัตว์ได้ที่สำนักงาน ราคา 500 บาท รถใหญ่นั่งได้เป็นสิบคน กลางคืนโอกาสพบเห็นสัตว์จะหลากหลายกว่ากลางวัน นอกจาก เนื้อทราย กวาง เก้ง อาจเจอ เม่น หมาใน หรือสุนัขจิ้งจอก

– เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางราวสองกิโลเมตร จุดเริ่มต้นใกล้กับบ้านพัก ควรติดต่อสำนักงานฯ ให้เจ้าหน้าที่นำทาง และช่วงฤดูฝนขอเตือนว่าทากชุมมาก เตรียมรับมือให้ดี

– สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว อยู่ริมถนนก่อนถึงด่านเก็บเงินเข้าเขตฯ เล็กน้อย จัดทำเหมือนสวนสัตว์ สัตว์เด่นคือเสื้อโคร่ง เสือดาว หมี กวางพันธุ์ต่างๆ ลิง ชะนี นกและไก่ฟ้า เข้าชมฟรีไม่เสียสตางค์ เปิดทุกวัน 8.30-16.00 น.

ทุ่งกะมัง-005

ทุ่งกะมัง-002

ทุ่งกะมัง-015


รู้ไว้สักนิด
– หนทางสู่เขื่อนจุฬาภรณ์ไม่มีปั้มน้ำมันมาตรฐาน หากมาเที่ยวควรเติมสำรองใว้ให้พอตั้งแต่ตัวอำเภอคอนสาร ชุมแพ หรือบนทางหลวงหมายเลย 12 อย่าได้คิดจะมาหาเอาแถวๆ เขื่อนหรือทางเข้าเขตฯ


อยากเล่าให้ฟัง
– หน้าด่านเก็บเงินมีป้ายใหญ่ของเขตฯ และรูปปั้นครอบครัวกระซู่สามตัว เนื่องจากกระซู่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของภูเขียว แม้ปัจจุบันจะสูญพันธุ์ไปจากบ้านเราเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งการริเริ่มจัดตั้งเขตฯ ภูเขียวเมื่อปี พ.ศ. 2513 ส่วนหนึ่งก็เพราะข่าวการล่ากระซู่นั่นเอง

ทุ่งกะมัง-006


ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller


About the author