คู่มือท่องเที่ยว “ปัว” ท้องทุ่งและสีเขียว

อัพเดตข้อมูลล่าสุด : 30 กรกฎาคม 2560

อำเภอปัว จังหวัดน่าน อีกหนึ่งที่เที่ยวชมทุ่งนาเขียวๆ ช่วงฤดูฝน เหมาะกับสายแบ็คแพ็ค สายชิล สายเที่ยวกับครอบครัว จริงๆ คือเที่ยวได้ทุกคนนั่นแหละ เพราะเดินทางไม่ยากไม่ว่าจะมีรถหรือไม่ และบรรยากาศดีจับใจ

ขอบอกว่าเสน่ห์ของที่นี่มีมากล้น จนทำให้ผมต้องสัญญากับตัวเองว่าจะกลับไปเที่ยวอีกครั้งแน่นอน


อยู่ที่ไหน
– อำเภอปัว ห่างจากตัวเมืองน่านไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 60 กิโลเมตร มีถนนทางหลวง 101 พาดผ่าน ลาดยางอย่างดีตลอดสาย นับเป็นจุดกึ่งกลางของคนเดินทางจากน่านไปด่านชายแดนไทย-ลาว ห้วยโก๋น


เดินทางง่ายๆ
– หากขับรถเองจากตัวเมืองน่าน ใช้ทางหลวง 101 วิ่งยาวสู่อำเภอปัวได้เลย สะดวกทั้งรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ เป็นทางราบไม่ได้ขึ้นเขา
– ส่วนการเดินทางด้วยรถโดยสารก็ง่ายๆ เพราะจากตัวเมืองน่าน มีทั้งรถตู้ แพร่-น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง กับรถโดยสารและรถสองแถว น่าน-ปัว ให้บริการ ราคาประมาณ 50-60 บาท เลือกนั่งได้แบบที่ชอบ


เที่ยวยังไงต่อ
– ไม่มีรถเที่ยวไม่ทั่วแน่ๆ เพราะฉะนั้นสำหรับขาแบ็คแพ็คก็ต้องหามอเตอร์ไซค์เช่า มีร้านใหญ่อยู่ร้านนึงคือ สุวัฒนายานยนต์ อยู่ในซอยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เช่า 24 ชั่วโมง 300 บาท มัดจำ 500 บาท พร้อมวางบัตรประชาชน โทร. 081-950-8121, 081-287-7133


พักที่ไหน
ในปัวมีที่พักหลายแบบให้เลือก อยู่ในตัวเภอสะดวกหาของกินก็มี หรือแบบพักกลางทุ่งก็ถือเป็นไฮไลท์โด่งดัง ขอแนะนำบางที่ที่ผมพบเจอมาแล้วน่าสนใจนิดหน่อยนะ

– ที่พักตัวอำเภอ : แนะนำเลยปวินท์ศิลป์ รีสอร์ท ที่พักเล็กๆ ตัวอำเภอ ราคาไม่แรงเริ่มต้น 500 บาท ห้องพักสะอาด เจ้าของน่ารัก วิวหน้ารีสอร์ทคือทุ่งนาสีเขียว ตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นหน้ารีสอร์ทได้เลย โทร. 054-791-374

– ที่พักกลางทุ่ง : ที่พักแบบที่หลายคนฝันหา ต้องบอกก่อนว่าถึงแม้ส่วนใหญ่ใช้ชื่อโฮมสเตย์ แต่การเข้าพักจริงๆ ออกแนวเกสต์เฮ้าส์ หรือรีสอร์ทขนาดเล็ก ไม่ได้เป็นโฮมสเตย์แท้ๆ

  • โฮมสเตย์ตานงค์ : โด่งดังด้วยสะพานไม้ทอดยาวสู่กลางทุ่ง มีฉากหลังเป็นภูเขาลูกใหญ่ อยู่ที่ตำบลสถาน ใกล้กับวัดพระธาตุจอมทอง โทร. 089-761-8013
  • ตูบนาโฮมสเตย์ : อยู่ที่ตำบลสถาน บรรยากาศดีไม่แพ้ที่ตานงค์ ห้องพักส่วนตัว วิวดี มีสะพานไม้ทอดสู่ทุ่งนาเหมือนกัน โทร. 094-143-1969
  • ปางชมภู ที่พักสะอาดใหม่ ห้องพักเดี่ยวมีระเบียงด้านบนไว้ชมวิวภูเขาและทุ่งนาเขียว อยู่ที่้บ้านส้าน ตำบลสถาน โทร. 084-366-0148
  • โฮมสเตย์บ้านไทลื้อ : เจ้าของเดียวกับลำดวนผ้าทอ และร้านกาแฟไทลื้อที่โด่งดังนั่นแหละ อยู่ที่ตำบลศิลาแลง มีบ้านหลังเดี่ยวกลางทุ่ง มุมถ่ายรูปเพียบ โทร 054-792-371, 088-411-2098
  • โรงเรียนชาวนา : อยู่ที่ตำบลศิลาเพชร มีห้องพักไม่มาก ห้อมล้อมด้วยทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา นอกจากที่พักยังมีกิจกรรมทำนาอีกด้วย (ต้องติดต่อล่วงหน้า) โทร. 089-999-7737

– อช.ดอยภูคา : อยากเที่ยวปัวแต่ไม่แคร์วิวทุ่งนา ขึ้นเขาดอยภูคาไปสัก 25 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีทั้งบ้านพัก และลานกางเต็นท์ให้บริการ โทร. 054-731-623, 082-194-1349

ที่พักในปัวยังมีอีกเพียบหลายรูปแบบ เปิด Google หาเอาโลดได้เลย


มีอะไรให้เที่ยวบ้าง

– ตัวอำเภอ : ตัวอำเภอก็คือตัวอำเภอ หากใครว่างแวะเข้าสักการะไหว้พระ และชมพระเจดีย์สวยๆ ที่วัดพระธาตุเบ็งสกัด และวัดบ้านปรางค์ ก็ดีนะ ส่วนที่ตลาดปัวยามเย็นๆ จะมีของกินขายอยู่หลายร้าน

– เส้นตำบลสถาน ทล. 101 : จากทางหลวง 101 เลี้ยวเข้าซอยบ้านส้าน เป็นซอยวกวนพาทะลุไปเรื่อยๆ แถวนั้นทุ่งนาสวย และที่พักกลางทุ่งหลายแห่ง โฮมสเตย์ตานงค์ กับตูบตาโฮมสเตย์ ขึ้นชื่ออยู่แล้ว โดยเฉพาะสะพานไม้ไผ่ที่ตานงค์ แม้จะไปไม่ได้เข้าพักก็ไปเที่ยวเล่นถ่ายรูปได้ แล้วเลยขึ้นเขาไปสักการะพระธาตุจอมทองด้วยก็ดี

– เส้นตำบลศิลาแลง ทล. 1081 : ทางหลวง 1081 เป็นเส้นวิ่งลงทางใต้ ถือเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของปัว วัดภูเก็ตคือไฮไลท์ชมวิวที่ยังไงก็ต้องไม่พลาด จากนั้นจะผ่านลำดวนผ้าทอ และกาแฟไทลื้อ ซึ่งเป็นอีกแลนด์มาร์คด้านการถ่ายภาพของปัว แล้วค่อยลัดเลาะไปชมวิวที่ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ กับดูความสวยของลำธารที่วังศิลาแลง (หน้าแล้งน้ำจะใสลงเล่นได้ หน้าฝนน้ำแดงดูได้อย่างเดียว) แล้วต่อไปถึงโรงเรียนชาวนา อีกจุดชมวิวทุ่งนาสวยๆ

– เส้นดอยภูคา ทล. 1256 : ถนนเส้นปัว-บ่อเกลือ เป็นทางขึ้นเขาคดเคี้ยวแล้วล่ะ แต่ความชันไม่มากนัก รถเก๋งเกียร์ออโต้ขึ้นสบาย ระหว่างทางผ่านวัดพระธาตุจอมแจ้ง กับจุดเล่นน้ำในฤดูร้อนหลายแห่ง ก่อนจะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ไฮไลท์ที่นี่อยู่ในช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งดอกชมพูภูคาจะเบ่งเบน เลยจากที่ทำการฯ อีกนิดจะพบจุดชมวิวลานดูดาว มีร้านกาแฟ ลานกางเต็นท์ให้บริการ และจากนั้นคือจุดสูงสุดของถนน เนิน 1715 เป็นที่ชมทะเลหมอกยามเช้าช่วงหน้าหนาว


ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller


 

About the author