ทริปเดินทาง : 20-27 ธันวาคม 2560
เที่ยวเชียงใหม่ใครๆ ก็ขึ้นเหนือ พูดแบบนี้ไม่ได้เล่นมุกว่าเชียงใหม่อยู่ภาคเหนือนี่นา แต่หมายถึงเพราะสถานที่เที่ยวยอดนิยมของเชียงใหม่ พ.ศ. นี้กระจุกอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดทั้งนั้น อ่างขาง ฝาง เชียงดาว แม่แตง แม่ริม เที่ยวแล้วเที่ยวอีกยังเที่ยวกันไม่หมด หนำซ้ำยังมีที่เที่ยวสวยๆ เปิดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่จะมีใครไหมหนอที่คิดอยากเที่ยวเชียงใหม่แบบล่องใต้ คือเที่ยวทิศใต้ของเชียงใหม่ อำเภอหางดง แม่วาง ดอยหล่อ จอมทอง ฮอด อมก๋อย ดอยเต่า ซึ่งหากตัดชื่อดอยอินทนนท์ ยอดเขาสูงสุดเมืองไทยที่อยู่จอมทองออกไป หลายคนอาจไม่เคยสัมผัสอำเภอเหล่านี้ทั้งที่ไปเชียงใหม่มาหลายรอบ
เพราะอยากรู้ครับว่าทิศใต้ของเชียงใหม่เป็นอย่างไร แต่ละอำเภอมีอะไรดี มีแคแรคเตอร์อย่างไร ผมเลยต้องจัดทริปยาวๆ 8 วัน 7 คืน เช่ามอเตอร์ไซค์ลุยเดี่ยวเที่ยวทุกอำเภอที่ว่าให้หายค้างคาเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
แม้จะเคยเที่ยวมาแล้วหลายที่ (ออบขาน แม่วาง ออบหลวง) แต่ในภาพรวมก็ยังถือเป็นการเดินทางที่พบเจออะไรใหม่ๆ มากมาย และยังมีอะไรอีกมากมายให้ค้นหาเพิ่มเติม นั่นทำให้เป็นเชียงใหม่ทิศใต้แบบเต็มๆ ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอนครับ
Day 1
เส้นทางวันนี้
* ข้าวซอยฟ้าฮ่าม เชฟยุ่น
* ถนน ชม.3035 เลี่ยงเมืองหางดง-สันป่าตอง
* วัดต้นเกว๋น
* แกรนด์แคนยอนหางดง
* อช.ออบขาน
* ทางหลวงชนบท แม่วาง-ดอยหล่อ
* กางเต็นท์ อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ อช.แม่วาง
เริ่มต้นจากสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ (อาเขต) ลงใต้ไปตามถนนเลี่ยงเมืองหางดง-สันป่าตอง แวะเที่ยวเรื่อยๆ แบบไม่เร่งรีบ ก่อนเชื่อมต่อไปอำเภอแม่วาง เข้าอำเภอดอยหล่อ ค้างแรมที่อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วาง
Bikky อาเขต
เหมือนกับทุกครั้งที่ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเชียงใหม่คือผมเช่ารถจากร้านนี้ อยู่สถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ เรียกกันติดปากว่าอาเขต ใจจริงอยากได้ฮอนด้า เวฟ แต่ร้านบอกว่าช่วงนี้รถใช้งานหนักกลัวว่าผมไปหลายวันอาจมีปัญหา ให้เป็นฮอนด้า คลิก แทนได้ไหมเพราะสภาพใหม่กว่ากัน ก็ตามนั้นผมขี่คนเดียวยังไงก็ได้อยู่แล้ว
ราคาเช่า 300 บาท ต่อวัน คิดเวลาแบบ 24 ชั่วโมง ผมเช่าเจ็ดวันแถมฟรีหนึ่งวัน ไม่มีมัดจำ วางบัตรประชาชนใบเดียว
ข้าวซอยฟ้าฮ่าม เชฟยุ่น
ผ่านมาทางนี้เมี่อไหร่ถ้าไม่แวะมากินแล้วจะพาลหงุดหงิด (ฮา…) ร้านโปรดของผม อร่อยทุกเมนูตั้งแต่ ข้าวซอย น้ำเงี้ยว ขนมจีนแกงเนื้อ หมูสะเต๊ะ และอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ตระเวนกินข้าวซอยที่เชียงใหม่มา ผมถูกปากร้านนี้ที่สุด
ร้านอยู่ถนนราชพฤกษ์ ไม่ไกลจากอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เปิดทุกวัน เก้าโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ลองแวะมาลิ้มลองรสชาติดูได้ครับ
วัดต้นเก๋วน
ได้ยินชื่อเสียงของวัดนี้มานานว่าเป็นวัดเก่าแก่สวยงาม แต่เชื่อไหมล่ะผ่านสี่แยกต้นเก๋วนมานับสิบครั้งกลับไม่เคยเลี้ยวรถแวะเข้าไปเลย ซึ่งทริปนี้เวลาเหลือเฟือเลยไม่ขอพลาดอีก
สรุปคือที่นี่สวยจริงครับ อายุวัดราว 150 กว่าปี ชื่อเล่นคือวัดต้นเก๋วน (มะเก๋วนคือตะขบป่า) ชื่อจริงคือวัดอินทราวาส จุดเด่นอยู่ตรงพระวิหารหลังเก่าศิลปะล้านนา ซึ่งหอคำหลวงที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์มีต้นแบบมาจากพระวิหารหลังนี้นี่เอง
แกรนด์แคนยอนหางดง
บอกตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม ที่นี่คือบ่อดินน้ำขังซึ่งเกิดจากการขุดหน้าดินขาย ก่อนจะโด่งดังขึ้นเมื่อมีคนมาเที่ยวเล่นกระโดดน้ำจนเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตหลายหน ร้อนถึงเจ้าของที่ต้องเข้ามาดูแลพร้อมมองเห็นโอกาสจัดเป็นที่เที่ยวแบบจริงจังเสียเลย
ปัจจุบันบ่อน้ำใหญ่ถูกแบ่งเป็นสามส่วนของสามผู้ประกอบการ ที่แรกเน้นร้านอาหารชมวิว ที่สองเป็นจุดเล่นน้ำ กระโดดน้ำ ร้านอาหาร ที่สามสร้างเป็นสวนน้ำเต็มรูปแบบ เห็นว่าค่าเข้า 300-400 บาท
ผมเลือกเข้าที่ที่สองคือแกรนด์แคนยอนกำนันบุญ ค่าเข้า 100 บาท ทำกิจกรรมเล่นน้ำกระโดดน้ำได้เลย แต่เล่นซิปไลน์เสียเงินเพิ่ม เดินถ่ายรูปแป๊บเดียวก็ออกมาเพราะทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ จุดสูงๆ ก็ห้ามเดินไป ราคาอาหารด้านในก็อัพสูงนิดหน่อย สรุปคือถ้ามาเล่นน้ำก็คงสนุกดี แต่ถ้าไม่คิดเล่นน้ำก็ไม่ต้องเข้าไปหรอก
อช.ออบขาน
อุทยานแห่งชาติเล็กๆ ซึ่งผมรักมากกลับมากี่รอบก็ประทับใจเสมอ รอบนี้เห็นถึงการพัฒนาที่ดีขึ้นในการต้อนรับนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ โดยเฉพาะลานกางเต็นท์บรรยากาศดีริมน้ำแม่ขาน
ออบในภาษาเหนือคือช่องเขาที่มีน้ำไหลผ่าน ออบขานคือออบที่แม่น้ำขานไหลผ่าน เราเดินเที่ยวตามลำน้ำได้เรื่อยๆ สักหนึ่งกิโลเมตร หลายจุดสามารถลงเล่นน้ำได้
ปัจจุบันออบขานยังไม่มีการเก็บค่าเข้าเพราะอยู่ในระหว่างเตรียมการ แต่ค่าค้างแรม 30 บาท ต่อคนอันนั้นต้องจ่าย และต้องเตรียมอาหารน้ำดื่มไปด้วยนะ ด้านในไม่มีขาย (เห็นว่ากำลังทำร้านสวัสดิการอยู่)
อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ อช.แม่วาง
ชื่ออุทยานแห่งชาติแม่วาง แต่ที่เที่ยวและที่ทำการฯ อยู่อำเภอดอยหล่อนะ ไม่ใช่อำเภอแม่วาง
ออกจากออบขาน ผมขี่รถต่อเข้าอำเภอแม่วาง ตามป้าย อช.แม่วาง จนทะลุต่อเข้าอำเภอดอยหล่อ ถึงอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ ที่ทำการอุทยานฯ ติดต่อขอกางเต็นท์แป๊บเดียวก็เรียบร้อย ค่าเข้า 20 บาท มอเตอร์ไซค์ 20 บาท พื้นที่กางเต็นท์ 30 บาท
โป่งจ้อเป็นอ่างเก็บน้ำเล็กๆ จุดกางเต็นท์อุทยานฯ ทำไว้อย่างดี มีแคร่ยกพื้นให้ด้วย แม้จะไม่ถึงกับสวยงามมากนัก แต่ยามเย็นบรรยากาศดีและสงบเงียบเชียว เพราะที่นี่ไม่ค่อยมีใครมานอน และที่เที่ยวต่างๆ ในอุทยานต้องขับรถเข้าไปอีกสักพักหนึ่ง
Day 2
เส้นทางวันนี้
* เช้า อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ อช.แม่วาง
* ผาช่อ
* กิ่วเสือเต้น – ข่วงเสาหิน
* ถนน ชม.3066 โป่งจ้อ-สันติสุข ขาออก
* ถนน ทล.108 ช่วง ดอยหล่อ-ฮอด
* วัดพระธาตุดอยน้อย
* วัดพระธาตุศรีจอมทอง
* กางเต็นท์ อช.ออบหลวง
หลังจากเที่ยวภายใน อช.แม่ว่าง ครึ่งวันแรกก็ขี่รถเดินทางลงใต้ต่อ ใช้ถนนสายหลักคือ ทล.108 (เชียงใหม่-แม่สะเรียง) ผ่านอำเภอจอมทอง เข้าอำเภอฮอด เพื่อไปกางเต็นท์ที่ อช.ออบหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่แจ่ม ติดถนน สะดวกสบายมาก
อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ
ตื่นทีแรกหกโมงยังมืดสนิท แต่ตื่นอีกทีหกโมงสี่สิบเปิดเต็นท์มาแล้วแทบกระโดดพรวด เพราะอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อที่ดูแสนธรรมดาเมื่อวานกำลังกลายเป็นสวรรค์ ไอหมอกขาวลอยระเรื่อเหนือผิวน้ำ ฉากหลังเป็นภูเขาและผืนป่า นกแอ่นหลายฝูงกำลังบินร่อนหากินส่งเสียงเจื้อยแจ้ว
สำคัญกว่าอื่นใดคือมีผมเพียงคนเดียวยืนซึมซับกับความสวยงามนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน หรือมีให้ชมตลอดทั้งปี มันเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ ของบางวันกลางฤดูหนาวเท่านั้นเอง บอกตัวเองเลยว่าวันนี้โชคดีเหลือเกิน
ผาช่อ
หมอกที่โป่งจ้อหมดราวเจ็ดโมงครึ่ง ผมจึงค่อยสตาร์ตมอเตอร์ไซค์ไปผาช่อ สถานที่เที่ยวไฮไลท์สร้างชื่อให้ อช.แม่วาง จากที่ทำการฯ ไปผาช่อแค่ 2-3 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายต่างจากเข้าทางศูนย์ราชการอำเภอดอยหล่อ ถนน ทล.108 เพราะตรงนั้นเป็นลูกรังหลายกิโล (หากต้องการเข้าทางนี้จาก ทล.108 ถ้าวิ่งขาออกเชียงใหม่ให้กลับรถที่ กม.37 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยตามป้ายไส้อั่วป้าตุ๋ย)
ผมเคยมาผาช่อแล้วสองครั้ง ประสบการณ์บอกว่าที่นี่จะสวยต้องมาสักเก้าโมงเช้าถึงสิบเอ็ดโมง หากมาตอนบ่ายแสงจะไม่ส่องลงหน้าผา
ผาช่อเป็นปรากฎการณ์ทางธรณีลักษณะที่เรียกว่าเสาดิน ลักษณะคล้าย แพะเมืองผี เสาดินนาน้าย ละลุ แต่ที่นี่ใหญ่โตกว่ามาก หน้าผาสูงชันลวดลายสวยแปลก ระหว่างเดินเข้าไปจะเห็นก้อนหินมนๆ แทรกตัวอยู่ในชั้นดินเป็นหลักฐานบอกว่าที่นี่คงเคยเป็นเส้นทางไหลผ่านของแม่น้ำปิงมาก่อน แต่คำว่าเคยในที่นี้พูดถึงตัวเลขระดับหลายล้านปีนะครับ
อุทยานฯ จัดทำบันไดและที่ทางให้นักท่องเที่ยวเดินชมสะดวกสบาย ขอร้องอย่างเดียวคืออย่าแตะ สัมผัส หรือดึงก้อนหินเล่นล่ะ ผลงานการสร้างเป็นล้านปีของธรรมชาติอาจพังทลายเพราะมนุษย์มือบอนในเวลาเพียงเสี้ยวนาที
ขาออกเราจะเดินผ่านเส้นทางชื่อว่า ฮ่อมกองกีด เป็นภาษาเหนือแปลว่าร่องทางเดินแคบๆ อัศจรรย์มากครับ
กิ่วเสือเต้น – ข่วงเสาหิน
แล้วในที่สุดก็ได้มาสักที… ต้องพูดแบบนี้เพราะคราวล่าสุดที่มาผาช่อ ผมพยายามมากิ่วเสือเต้นด้วย บังเอิญมีเหตุนิดหน่อยเลยมาไม่ถึง
กิ่วเสือเต้นมีลักษณะเช่นเดียวกับผาช่อนั่นแหละ แต่ลวดลายของเสาหินต่างกัน อยู่ห่างจากผาช่อราว 6 กิโลเมตร ถนนเป็นลูกรังล้วนๆ แนะนำเฉพาะมอเตอร์ไซค์กับกระบะครับ หากเดินทางเข้าจากฝั่งศูนย์ราชการอำเภอดอยหล่อ ถนน ทล.108 พอผ่านด่านตรวจฯ มาแล้วจะเจอแยกไปกิ่วเสือเต้นก่อน แต่หากมาทางที่ทำการอุทยานฯ ก็จะผ่านผาช่อก่อน
ติดกับกิ่วเสือเต้นมีหน้าผาเสาดินอีกแห่งคือข่วงเสาหิน เดินไปตามทางที่อุทยานฯ สร้างไว้อย่างดีได้เลย โดยที่ข่วงเสาหินเราจะได้ชมไกลๆ ไม่สามารถลงไปข้างล่าง
วัดพระธาตุดอยน้อย
ออกจากกิ่วเสือเต้นก็กลับไปเก็บเต็นท์แล้วดิ่งออกถนน ทล.108 อำเภอดอยหล่อ ขี่มาเรื่อยๆ เข้าเขตอำเภอจอมทอง ผ่านเห็นป้ายวัดพระธาตุดอยน้อย บอกว่าเป็นวัดเก่าแก่โบราณสร้างตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี แห่งหริภุญไชย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1201 เลยเลี้ยวรถเข้าไปสักหน่อย
เข้าวัดก็คือเข้าวัดล่ะนะ พระเจดีย์สีทองทรงล้านนาอร่ามสวยงาม นอกจากนี้มีพระเจดีย์องค์เล็กชื่อว่าเจดีย์โขง เก่าแก่ตั้งแต่สร้างวัดเช่นกัน
วัดพระธาตุศรีจอมทอง
ต่อมาตามถนน ทล.108 ถึงตัวอำเภอจอมทองก็แวะสักการะพระธาตุศรีจอมทองสักหน่อย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ถือเป็นวัดสำคัญของเชียงใหม่แห่งหนึ่ง แวะเข้าไปไหว้พระหรือสักการะพระบรมสารีริกธาตุกันได้
กางเต็นท์ อช.ออบหลวง
ราวสี่โมงเย็นผมถึงที่หมายวันนี้คือ อช.ออบหลวง เลยจากตัวอำเภอฮอดประมาณ 17 กิโลเมตร ถนนสวยเลียบแม่น้ำแม่แจ่ม แต่ต้องระวังสักหน่อยเพราะรถบรรทุกวิ่งกันเยอะเพราะเป็นสายหลักเข้าแม่ฮ่องสอน
ออบขานคือออบที่แม่น้ำขานไหลผ่าน แต่ออบหลวงไม่ใช่ออบที่แม่น้ำหลวงไหลผ่านหรอกนะ แม่น้ำหลวงมันมีที่ไหนล่ะ คำว่าหลวงของคนเหนือคือใหญ่ ออบหลวงคือออบขนาดใหญ่ ส่วนแม่น้ำที่ไหลผ่านออบหลวงคือแม่น้ำแม่แจ่ม
ค่าเข้า 20 บาท มอเตอร์ไซค์ 20 บาท กางเต็นท์ 30 บาท เดินจากลานจอดรถสักสองสามร้อยเมตรง่ายๆ ก็ถึงจุดชมออบหลวง ด้านบนออบจะเห็นสะพานแขวนซึ่งเราเดินไปได้ครับ แต่ผมขอเป็นพรุ่งนี้แล้วกัน
สถานที่นี้มีประวัติน่าสนใจ ย้อนกลับไปรุ่นทวดสมัยการทำไม้คืออุตสาหกรรมเฟื่องฟูก็จะใช้น้ำแม่แจ่มนี่แหละเป็นเส้นทางลำเลียงไม้ จึงมีการทำบ้านพักและบ่อพักไม้บริเวณนี้ มีเศษซากจากอดีตกาลหลงเหลือให้ชมด้วย
ส่วนลานกางเต็นท์เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำ เลือกทำเลตามสะดวก อาหารการกินไม่ต้องเป็นห่วงเพราะร้านด้านหน้าอุทยานฯ เปิดขายถึงทุ่มสองทุ่ม
Day 3
เส้นทางวันนี้
* ผาช้าง-ผาเต่า อช.ออบหลวง
* ถนน ทล.1088 ออบหลวง-แม่แจ่ม
* บ่อน้ำร้อนเทพพนม
* ถนน ทล.108 ช่วง ฮอด-แยกบ่อหลวง
* สวนสนห้วยบง
* สวนสนบ่อแก้ว
* ถนน ทล.1099 แยกบ่อหลวง-บ้านมูเซอ
* วัดพระธาตุดอยเหลี้ยม
* นอน หน่วยฯ มูเซอ เขตรักษาพันธุ์ฯ อมก๋อย
จากฮอดลงทิศใต้เรื่อยๆ เข้าอำเภออมก๋อย จุดหมายคือตำบลม่อนจอง ซึ่งผมมีนัดกับเพื่อนขึ้นพิชิตยอดดอยแห่งนี้วันพรุ่งนี้ ทางสบาย ถนนค่อนข้างดี (กำลังซ่อมแซมลาดยางใหม่บางจุด) รถไม่เยอะ สองข้างทางร่มรื่น แต่ทางไกลมาก จากแยกบ่อหลวงเข้าไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยวขึ้นม่อนจอง 90 กิโลเมตร เผื่อเวลาเดินทางให้ดี
ผาช้าง–ผาเต่า
นอนริมแม่น้ำกลางหุบเขาไม่มีพระอาทิตย์ขึ้นให้ชมหรอก ราวเจ็ดโมงครึ่งผมถึงได้ฤกษ์เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อุทยานจัดไว้ จุดเริ่มต้นคือหลังจากข้ามสะพานแขวนบนออบหลวง ทางวนเป็นวงกลม ระยะทางกิโลเมตรนิดๆ
ที่นี่ชูเรื่องดินแดนมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาเป็นจุดเด่น เพราะค้นพบทั้งหลุมฝังศพ ภาพเขียนสีโบราณ แต่จริงๆ มันค่อนข้างเล็กและไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่ ที่สวยกว่าผมว่าเป็นวิวทิวทัศน์ต่างหาก
450 เมตร จากจุดเริ่มต้นจะมาถึงผาช้าง เห็นภูเขาที่เต็มไปด้วยผืนป่าปกคลุมแล้วชื่นใจ มองเห็นถนนข้างล่าง ลานกางเต็นท์ด้วยครับ และบอกเลยว่าถ้ามาช่วงปลายมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จะเห็นป่าเปลี่ยนสีที่นี่ด้วย ส่วนปลายธันวาทริปนี้ของผม ป่ายังเขียวอยู่ครับ
หลังจากนั้นเดินวนเรื่อยๆ ถึงจุดชมวิวอีกแห่งคือผาเต่า เตี้ยและมุมแคบกว่าผาช้าง แต่มีดีตรงเห็นสะพานข้ามห้วยแม่นาเบิญ
พ้นจากผาเต่าเราจะเดินเลียบลำน้ำแม่แจ่มกลับสู่ออบหลวง ก่อนถึงออบหลวงนิดเดียวเป็นจุดบ่อพักซุง มีซากกำแพงที่เคยสร้างขึ้นให้เห็น
บ่อน้ำร้อนเทพพนม
ออกจากออบหลวงตอนเที่ยงตั้งใจขี่ไปอำเภออมก๋อย แต่แอบเลี้ยวนอกเส้นทางแวะบ่อน้ำร้อนเทพพนมสักนิด อยู่ในเขตดูแลของ อช.ออบหลวง ฝั่งอำเภอแม่แจ่ม
ที่นี่เป็นพื้นที่กลางแจ้งร้อนแรงมาก จุดต้นกำเนิดน้ำร้อนไม่ใหญ่แต่ก็สามารถต้มไข่ได้
จุดเด่นคือมีการทำห้องแช่น้ำแร่ทำดีมากอยู่ด้านใน ค่าบริการอาบน้ำแร่ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท เปิดตั้งแต่ 8.00-16.30 น. มีอยู่สิบหลัง โทรจองได้ที่ 0823842978 ส่วนด้านนอกกำลังสร้างบ่อแช่รวม อีกไม่กี่เดือนน่าจะเสร็จ
สวนสนห้วยบง
เรียกชื่อให้เก๋ๆ สั้นๆ จำง่ายพ้องกับสวนสนบ่อแก้วไปอย่างนั้นแหละ ชื่อจริงคือสถานีวนวัฒนวิจัยห้วยบง ใช้ถนนจากฮอดไปทางแม่สะเรียง อมก๋อย จะอยู่ถึงก่อนสวนสนบ่อแก้วนิดหน่อย
แนวต้นสนอาจไม่เรียงรายยาวหลายร้อยเมตรเหมือนบ่อแก้ว แต่บรรยากาศความชิลผมว่าไม่แพ้กัน ผ่านไปผ่านมาแวะจอดรถถ่ายรูปสักนิดไม่เสียหาย
สวนสนบ่อแก้ว
สถานีวนวัฒนวิจัยบ่อแก้ว คงเหมือนจุดแวะพักรถแวะถ่ายรูปแก้เมื่อยยอดนิยม ต้องยอมรับว่าแนวต้นสนที่นี่สวยจริงๆ ทำให้สถานที่ที่ดูเหมือนจะธรรมดามีอะไรพิเศษขึ้นมา ถ้าให้ดีพกนางแบบนายแบบไปด้วยจะสร้างสรรค์ภาพสนุกขึ้นหลายเท่าตัว ไปคนเดียวโดดๆ อย่างผมทำได้แต่ถ่ายภาพแนวสนเรียงกัน มันก็ดูเหงาๆ ยังไงอยู่ (ฮา…)
จุดชมวิวพระธาตุดอยเหลี้ยม
จากสวนสนบ่อแก้วมาไม่ไกลจะพบสามแยกบ่อหลวง ตรงต่อไปตาม ทล.108 จะเข้าแม่สะเรียง เลี้ยวซ้ายไปตาม ทล.1099 จะเข้าอมก๋อย จากสามแยกถึงตัวอำเภอราวๆ 60 กิโลเมตร แต่เข้าไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวม่อนจอง บ้านมูเซอ ยังต้องไปต่อจากตัวอำเภออีก 30 กิโลเมตร
เลี้ยวเข้า ทล.1099 สักแป๊บก็เจอป้ายจุดชมวิวพระธาตุดอยเหลี้ยม (ยังอยู่ในเขตอำเภอฮอด) องค์พระธาตุสีขาว วิวจากตรงนี้ทำให้เห็นว่าเราอยู่บนแนวเขาสลับซับซ้อน ตอนเช้าๆ เย็นๆ คงสวยดีเหมือนกัน
จุดชมวิวดอยมูเซอ
ถนนสาย ทล.1099 สวยและร่มรื่นตลอดทาง ผมถึงตัวอำเภออมก๋อยสี่โมงครึ่ง เติมน้ำมันให้เต็มถังและซื้อของกินตุนไว้ก็เดินทางต่อ ระหว่างทางผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยอีกสองจุดคือยางแก้ว กับยางเปียง แต่ยังไม่หยุดครับเพราะจุดหมายคือหน่วยพิทักษ์มูเซอ ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นสำหรับการพิชิตม่อนจอง
ห้าโมงสี่สิบ ถึงจะรีบแสนรีบต้องการไปให้ถึงที่หมายก่อนค่ำ แต่พอเจอวิวข้างทางที่ดอยมูเซอแล้วยังไงก็ต้องจอดเพราะสวยจับใจ แถมยังมีทำเลดีๆ ให้เราพักชมวิวได้ตลอดทางจนถึงองค์พระพุทธรูปจตุรทิศซึ่งประดิษฐานอยู่ริมถนนด้วย
นอน หน่วยฯ มูเซอ เขตรักษาพันธุ์ฯ อมก๋อย
สำหรับที่พักคือหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอ ตั้งอยู่ก่อนถึงองค์พระราวกิโลเมตรเดียวครับ เข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ว่าขอกางเต็นท์รอเตรียมขึ้นม่อนจองได้ไหม คำตอบที่ได้รับคือจะนอนเต็นท์ทำไม นอนในบ้านพักได้เลย มีสองห้อง ห้องน้ำมี ไฟฟ้ามี แถมยังเอาเสื่อ หมอน ผ้าห่ม ให้อีกต่าหาก ทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ … ขอบคุณมากมายครับ
คืนนี้เลยสบายได้ชาร์ตแบตกล้องถ่ายรูป และพาวเวอร์แบงค์เต็มๆ
Day 4
เส้นทางวันนี้
* เช้า บ้านมูเซอ อมก๋อย
* เดินป่าดอยม่อนจอง
การขึ้นม่อนจองสำหรับนักท่องเที่ยวให้ติดต่อใช้บริการรถกระบะที่บ้านมูเซอ ผมจอดรถทิ้งไว้ที่หน่วยพิ ทักษ์ป่ามูเซอ แล้วนั่งกระบะขึ้นไปพร้อมกับเพื่อนครับ รวมกันทริปม่อนจอง 10 ชีวิต
จุดชมวิวบ้านมูเซอ
ตั้งนาฬิกาปลุกหกโมงเช้า ใส่เสื้อกันหนาวหนาๆ แล้วขี่มอเตอร์ไซค์กลับไปจุดเดียวกับที่ดูพระอาทิตย์ตกเมื่อวาน แต่คราวนี้แค่ข้ามถนนไปอีกฝั่งเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น ท้องฟ้าจี๊ดจ๊าดสุดใจ
ดอยม่อนจอง
เริ่มสายๆ รถตู้ทริปขึ้นม่อนจองทยอยมาที่หน่วยฯ เพื่อลงทะเบียน เจ้าหน้าที่บอกว่าวันนี้น่าจะเกือบสองร้อยคน กระทั่งเก้าโมงครึ่งรถกระบะกลุ่มเพื่อนของผมจึงมาถึง เราจึงตรงเข้าไปศูนย์บริการท่องเที่ยวดอยม่อนจองโดยชุมชนบ้านมูเซอปากทาง ที่หมู่บ้านเพื่อลงทะเบียนอีกรอบ ซึ่งหากใครจะติดต่อเรื่องรถ หรือลูกหาบ ก็ที่นี่แหละครับ
อีกไม่ไกลจากหมู่บ้านก็ถึงด่านเก็บค่าธรรมเนียมที่หน่วยพิทักษ์ป่าอุ้มหลอง อีกหนึ่งหน่วยย่อยของเขตรักษาพันธุ์ฯ อมก๋อย ค่าเข้าคนไทย 20 บาท ต่างชาติ 200 บาท ค่ากางเต็นท์คิดหลังละ 50 บาท (นับจำนวนเต็นท์ไม่นับคน) ตรงนี้จะเห็นป้ายบอกว่าลานจอดรถ 11 กิโลเมตร ดอยหัวสิงห์ 18 กิโลเมตร ไม่อนุญาตให้นำรถตัวเองขึ้นไปนะครับ ฝ่าเส้นทางเข้าป่ากระเด้งกระดอนฝุ่นคลุ้งกันไปตามระเบียบ ใช้เวลาถึงลานจอดรถราวสี่สิบนาที
จากจุดจอดรถเดินไปถึงจุดตั้งแคมป์ 5 กิโลเมตร และจากจุดตั้งแคมป์ไปยอดหัวสิงห์อีก 2 กิโลเมตร เราเริ่มเดินราว 10.50 ตลอดทางเป็นป่าเขียวร่มรื่นมาก เส้นทางขึ้นๆ ลงๆ ไม่ถือว่าหนักเท่าไหร่ ระหว่างทางเจอจุดสวยๆ ตรงไหนก็พักตรงนั้น
บ่ายโมงจึงถึงจุดยากที่สุด ชื่อชวนขำว่าเนินหมาหอบ รับว่าว่าขึ้นไปหอบทุกรายนั่นแหละ (ฮา…)
พ้นเนินหมาหอบขึ้นมาจะเห็นยอดหัวสิงห์อันโด่งดังของม่อนจองอยู่ไม่ไกลแล้ว
แต่ก่อนจะไปดอยหัวสิงห์ เราต้องลงไปตั้งแคมป์กางเต็นท์กันก่อนบริเวณชายป่า เปลหรือเต็นท์ก็ได้ มีแหล่งน้ำสะอาด มีห้องน้ำแบบส้วมหลุมกรณีจำเป็น ถือว่าค่อนข้างสะดวกไม่น้อยสำหรับทริปเดินป่า
เราจัดเตรียมที่ทางให้เรียบร้อย พอสักสามโมงครึ่งค่อยเดินจากแคมป์ไปดอยหัวสิงห์ เส้นทางเลียบหน้าผาสวยมาก ต้นกุหลาบพันปีเรียงรายเต็มไปหมด แต่ช่วงที่ผมไปเพิ่งบานไม่กี่ต้นเท่านั้น
นี่แหละยอดดอยหัวสิงห์ 1,929 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มองวิวได้ทุกทิศทาง ฝั่งพระอาทิตย์ตกเป็นบ้านแม่ตื่น มองข้ามเขาไปไกลๆ เป็นจังหวัดตาก ส่วนฝั่งพระอาทิตย์ขึ้นเป็นพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งถ้าเปิดดูแผนที่จะเห็นว่าตำบลม่อนจองเป็นติ่งของเชียงใหม่ยื่นเข้าไปในจังหวัดตากครับ
ก่อนพระอาทิตย์จะตกเราเดินย้อนจากยอดหัวสิงห์กลับมาเพื่อรอชมแสงเย็นระหว่างทาง แล้วจะได้ภาพยอดหัวสิงห์กับทุ่งหญ้าสีทองสวยๆ ด้วย
ค่ำคืนก็ออกมาถ่ายภาพดวงดาวสักหน่อย บนยอดดอยวันฟ้าเปิดแบบนี้ ดาวพราวนภาจริงๆ
Day 5
เส้นทางวันนี้
* ดอยม่อนจอง
* ถนน ทล.1099
* ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ฯ อมก๋อย
* สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย
* กางเต็นท์ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย
*** การเดินทางวันที่ 5 และ 6 ของผม เกิดอุบัติเหตุทางดิจิตอลนิดหน่อย ทำให้ภาพทั้งหมดสูญหาย เหลือเพียงบางไฟล์ที่เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ้ก บางสถานที่ก็ไม่เหลือภาพเลย
หลังจากซึมซับบรรยากาศที่ดอยม่อนจองจนหนำใจ ลงจากดอยแล้วผมขับรถเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เลยจากบ้านมูเซอไปอีก 30 กิโลเมตร ก่อนย้อนกลับตัวอำเภออมก๋อย หาที่ค้างแรมได้ที่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย
ดอยม่อนจอง
ตื่นตีสี่ครึ่งไปดูพระอาทิตย์ขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นขอดูดาวสักหน่อย ฟ้าเริ่มสีน้ำเงินสวยกว่าเมื่อคืนเยอะเลย
และที่เหลือคงไม่มีอะไรต้องบรรยายให้มากครับ การไม่มีทะเลหมอกไม่ใช่เรื่องใหญ่ (จากอากาศหนาว แห้งสนิท และฟ้าเปิดสุดๆ พอจะคาดเดาได้ตั้งแต่ก่อนขึ้นมาแล้วล่ะ) และที่จริงก็มีหมอกแอ่งเล็กๆ ให้ชมเป็นบุญตานิดหน่อยด้วย เป็นเช้าที่สวยงามมากครับ
เราลงจากม่อนจองเกือบเป็นกลุ่มสุดท้าย ถึงข้างล่างแล้วก็แยกทางกับเพื่อน รถไปส่งผมที่หน่วยพิทักษ์ป่าฯ มูเซอ อาบน้ำอาบท่าเปลี่ยนเสื้อผ้าจัดเก็บข้าวของให้เข้าที่เข้าทาง แล้วเดินทางต่อ
กางเต็นท์ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย
มีตัวเลือกคือไปทางบ้านแม่ตื่นหรือกลับไปอมก๋อย ผมเลือกอย่างแรกเพราะรู้มาว่าทางแม่ตื่นมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กับที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ฯ อมก๋อย แต่คงเพราะเป็นวันอาทิตย์ทำให้เมื่อไปถึงสถานีฯ กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถสอบถามข้อมูลว่าเข้าชมตรงไหนได้บ้าง ขณะที่พอติดต่อที่ทำการเขตฯ เพื่อกางเต็นท์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาต สุดท้ายเลยรีบบึ่งกลับมาอมก๋อย ก่อนเข้าตัวอำเภอไม่นานเจอสถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย ด้านหน้าติดไว้ว่าเปิดเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ วันนี้ 24 ธ.ค. ใกล้ปีใหม่แล้วเลยเข้าไปสอบถามสักหน่อยว่าอนุญาตให้กางเต็นท์หรือเปล่า คำตอบคือ… ตามสบายเลยครับ
คุยกับเจ้าหน้าที่ทหารได้ความว่าปกติคือวันส่งท้ายปีและปีใหม่ที่นี่จะเปิดเป็นจุดบริการนักท่องเที่ยว และให้ประชาชนเข้ามากางเต็นท์ได้ ส่วนกรณีผมยังไม่ถึงวันแต่ถือเป็นน้ำใจช่วยเหลือคนเดินทาง ขอบคุณมากครับ
เจอปฏิเสธไม่ให้กางเต็นท์จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่มาได้กางเต็นท์ที่สถานีเรดาร์ฝนหลวง ค่อนข้างจะรู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกันแฮะ แต่ไม่มีภาพสถานที่เพราะหายไปทั้งหมดครับ (เศร้า…)
Day 6
เส้นทางวันนี้
* ถนน ทล.108 ช่วง แยกบ่อหลวง-ฮอด
* ถนน ทล.1012 ต่อ ทล.1103 ฮอด-ดอยเต่า
* สำนักสงฆ์ดอยจ๊อม
* ผาวิ่งชู้
* ทะเลสาบดอยเต่า
* กางเต็นท์ หน่วยพิทักษ์ฯ ดอยเต่า อช.แม่ปิง
*** การเดินทางวันที่ 5 และ 6 ของผม เกิดอุบัติเหตุทางดิจิตอลนิดหน่อย ทำให้ภาพทั้งหมดสูญหาย เหลือเพียงบางไฟล์ที่เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ้ก บางสถานที่ก็ไม่เหลือภาพเลย
เช้าที่อมก๋อย ย้อนกลับเส้นทางเดิมจนถึงอำเภอฮอด แล้วเลี้ยวลงใต้อีกรอบเข้าอำเภอดอยเต่า เป็นการขี่รถแบบตัวยู แวะเที่ยวรายทางที่น่าสนใจไปเรื่อยๆ ก่อนจบวันที่หน่วยพิทักษ์ฯ ดอยเต่า ริมทะเลสาบดอยเต่า ของ อช.แม่ปิง
สำนักสงฆ์ดอยจ๊อม
จากอมก๋อยสู่ดอยเต่า ระหว่างทางในเขตอำเภอฮอด เห็นวัดสีขาวๆ บนภูเขาสูงลิบ จอดรถสอบถามชาวบ้านได้ความว่าชื่อพระธาตุดอยจ๊อม พอเจอป้ายปุ๊บเลยขี่เข้าไปโดยพลัน ถนนลูกรังพาขึ้นเขาสักพักก็ถึงลานจอดรถ จากนี้ต้องเดินเท้าขึ้นไป 400-500 เมตร เมื่อขึ้นไปแล้วจะพบกับองค์พระธาตุสีขาวสวยงาม และเป็นจุดชมวิวมองเห็นไกลถึงทะเลสาบดอยเต่า
บนยอดดอยจ๊อมมีพระสงฆ์จำพรรษาหนึ่งรูปครับ พระครูชัชวาล ขนฺติโก ผมนั่งคุยกับหลวงพ่อพักใหญ่ได้แนวคิดหลายอย่างมากมาย และตอนนี้ที่นี่กำลังสร้างวิหาร และปกติจะมีพุทธศาสนิกชนมาปฏิบัติธรรมถือศีลอย่างสม่ำเสมอด้วย
ในภาพคือสำนักสงฆ์พระธาตุดอยจ๊อมในมุมที่ถ่ายจากผาวิ่งชู้ อำเภอฮอด เป็นภาพเดียวที่เหลืออยู่ครับ
ผาวิ่งชู้
ค่อนข้างแน่ใจว่าไม่ใช่สถานที่ที่สวยเลอเลิศมากนัก (ไม่อย่างนั้นคงดังไปแล้ว) แต่เพราะหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้น้อยมากทำให้เป็นหนึ่งในที่ที่ผมอยากเห็นกับตามากที่สุดในทริปนี้ (แล้วก็ทำรูปหายหมดเหลือเพียงไฟล์ซึ่งเคยโพสในเฟซบุ้กภาพเดียว เศร้าอีกรอบ…)
ผาวิ่งชู้มีเป็นหน้าผาและเสาเดินลักษณะคล้ายกับ ผาช่อ และกิ่วเสือเต้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ความยาวไม่มากแต่สวยพอสมควร ที่นี่มีเรื่องเล่าเป็นตำนานรักผาวิ่งชู นิทานพื้นบ้านทางภาคเหนือ เสิร์ชกูเกิ้ลหาอ่านกันได้
ที่นี้ที่สำคัญคือผาวิ่งชู้ตั้งอยู่ริมน้ำปิงจึงมีทางเข้าสองทาง ทางแรกคือเราจะอยู่ด้านล่างของหน้าผาอีกฝั่งแม่น้ำ ทางนี้เข้าจากบ้านหลวงฮอด ตรงข้ามวัดหลวงฮอด ถนน ทล.1012 ส่วนอีกทางซึ่งขึ้นไปบนหน้าผาอยู่ที่บ้านดงดำ ถนน ชม.4010 (ถ้ามาตามถนน ทล.1012 ให้เลี้ยวตรงวัดดอนอูปแก้ว)
มองจากบนผาวิ่งชู้มองเห็นวิวไกลเชียว แม่น้ำปิงอยู่ข้างล่าง พระธาตุดอยจ๊อมอยู่บนเขาลิบๆ เราเดินเที่ยวได้ร้อยสองร้อยเมตรเลียบหน้าผา แต่จากสภาพพื้นที่ก็ชัดเจนว่านักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่
อย่างที่บอกครับ รูปทั้งหมดหายไปเหลือเพียงรูปนี้รูปเดียว
ทะเลสาบดอยเต่า
จากผาวิ่งชู้สู่ทะเลสาบดอยเต่า 25 กิโลเมตร ถนนวิ่งสบาย ไปถึงราวๆ สามโมงครึ่ง ภาพแรกที่เห็นต้องยอมรับว่าหดหู่ใจเล็กน้อยเพราะที่นี่ค่อนข้างทรุดโทรม แม้จริงๆ จะเป็นอะไรที่ไม่เกินคาดเนื่องจากพอรู้ว่าตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา ทะเลสาบดอยเต่าต้องประสบปัญหาน้ำแห้งขอด
“ปีนี้แหละถึงเริ่มมีน้ำ มันแห้งมานานหลายปี” ผู้ประกอบการเรือลากแพคนหนึ่งบอก
หวังว่าน้ำที่เพิ่มขึ้นในปีนี้และขอให้มีเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อไป จะทำให้ทะเลสาบดอยเต่ากลับมามีชีวิตชีวาจนโด่งดังเหมือนอดีตแล้วกันนะ แต่มันจะเป็นไปได้จริงหรือไม่นั้นคงยากที่จะบอก
สำหรับรูปทะเลสาบดอยเต่าตรงบริเวณแพอาหารและพาท่องเที่ยวต่างๆ ที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง… ไม่หลงเหลืออยู่เลยครับ
กางเต็นท์ หน่วยพิทักษ์ฯ ดอยเต่า อช.แม่ปิง
รู้มาว่าริมทะเลสาบดอยเต่ามีหน่วยพิทักษ์ อช.แม่ปิง เปิดหาในกูเกิ้ลแม็พชี้เป้าว่าอยู่ตรงแถวแพร้านอาหาร แต่เดินไปเดินมาจนทั่วก็ไม่เห็นมี พอสอบถามจากร้านค้าจึงถึงบางอ้อ เรื่องแผนที่มั่วในกูเกิ้ลแม็พนี่เป็นครั้งแรกเสียเมื่อไหร่ (ฮา…)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ที่ 5 (ดอยเต่า) ทางเข้าอยู่ที่บ้านผาจุก ห่างจากแพอาหารไปอีก 5 กิโลเมตร และต้องเข้าไปอีก 11 กิโลเมตร เป็นถนนคอนกรีตแค่สองกิโลแรก จากนั้นเป็นลูกรังล้วนๆ รถเก๋งรถตู้ไปได้ครับแต่ต้องคลานช้าๆ
ถึงที่หมายแล้วเดินยิ้มเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ทันที “ขอกางเต็นท์หน่อยครับ” เลือกกางตรงไหนก็ตามสบาย และตรงนี้ไม่ใช่จุดท่องเที่ยวเพราะฉะนั้นไม่คิดค่าเข้า หรือค่ากางเต็นท์
แรกเห็นก็หลงรักเลยบรรยากาศดีมาก ที่สำคัญนกเยอะเสียด้วย เจอนกคุ่มอืดตัวเป็นๆ ครั้งแรก และเพิ่งรู้ว่าตรงนี้ใช้เป็นจุดข้ามแพขนานยนต์ไปหมู่บ้านบนภูเขาห่างไกลในเขตอำเภออมก๋อย มีรถตู้พาชาวต่างชาตินำของไปบริจาคกันหลายคัน
ยามเย็นสวยมากครับวันนี้ มีภาพไฟล์เล็กๆ อยู่เท่านี้แหละครับจากที่ถ่ายมาเยอะมาก
Day 7
เส้นทางวันนี้
* เช้า หน่วยพิทักษ์ฯ ดอยเต่า อช.แม่ปิง
* ถนน ทล.1103 ดอยเต่า-ฮอด
* ถนน ทล.108 ช่วง ฮอด-จอมทอง
* อุทยานพระนอน วัดโมคคัลลาน
* ถนน ทล. 1009 จอมทอง-ดอยอินทนนท์
* น้ำตกวชิรธาร
* น้ำตกสิริธาร
* น้ำตกสิริภูมิ
* กางเต็นท์ ทางเข้าน้ำตกสิริภูมิ
หลังจากอิ่มเอมบรรยากาศของทะเลสาบดอยเต่าก็ได้เวลาขากลับ แต่ยังไม่กลับเชียงใหม่โดยตรงหรอก เพราะขอแว้บขึ้นดอยอินทนนท์สักวัน เส้นทางใช้ ทล.108 จนถึงอำเภอจอมทอง แล้วขึ้นอินทนนท์ เป็นเส้นปกติที่ใช้กันอยู่แล้ว
หน่วยพิทักษ์ฯ ดอยเต่า อช.แม่ปิง
ยามเช้าถือกล้อง ถือเลนส์ ออกไปส่องนก เพียงแค่ชั่วโมงครึ่งนับได้เกือบยี่สิบชนิด แม้สภาพอากาศจะปิดสนิท พระอาทิตย์ไม่ปรากฎโฉม แต่ไม่ทำให้ความสงบงามด้อยลงเลย
อุทยานพระนอน วัดโมคคัลลาน
ออกจากดอยเต่าถึงอำเภอฮอด ใช้เส้น ทล.108 แวะสักหน่อยระหว่างทางที่อุทยานพระนอน วัดโมคคัลลาน ้เขตอำเภอจอมทอง องค์พระนอนใหญ่บนเขาสังเกตเห็นจากริมถนน ชื่อทางการเพราะพริ้งคือพุทธสถานสุทธิจิตต์ ภายในสร้างรูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เยอะแยะทีเดียว พื้นที่ร่มรื่นดีครับ
น้ำตกวชิรธาร
อช.ดอยอินทนนท์ มีที่เที่ยวเยอะมากอย่างที่ก็รู้กันดี แต่ครั้งนี้ผมมาเพียงเพื่ออัพเดตการบานของดอกนางพญาเสือโคร่งเท่านั้น เลยแค่แวะอะไรก็ตามที่อยู่ระหว่างทางแล้วใช้เวลาไม่มาก ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมเป็นน้ำตกวชิรธาร น้ำตกสายใหญ่ ไปกี่ครั้งก็ซู่ซ่าฉ่ำใจ
น้ำตกสิริธาร
เลยจากน้ำตกวชิรธารไม่ไกลนัก ที่นี่อุทยานฯ อนุญาตให้ชมวิวจากบนระเบียงชมวิวเท่านั้น
น้ำตกสิริภูมิ
น้ำตกใหญ่แห่งบ้านขุนกลาง (เป็นหมู่บ้านจุดหลักในการเที่ยวอินทนนท์) อยู่ติดกับสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ค่าเข้า 20 บาท ในพื้นที่เป็นจุดเพาะพันธุ์เฟิร์นหลากชนิด สวยเขียวสดชื่นมาก แต่มาครั้งนี้สภาพพื้นที่น้ำตกชั้นล่างเปลี่ยนแปลงเนื่องจากน้ำหลากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้ต้นไม้รกระเกะระกะไม่สวยเหมือนมาเที่ยวคราวก่อนๆ
กางเต็นท์ ทางเข้าน้ำตกสิริภูมิ
ปกติมาดอยอินทนนท์ผมจะกางเต็นท์ที่ลานดงสนของอุทยานฯ แต่คราวนี้อยากเปลี่ยนบรรยากาศสักนิด บนดอยมีลานของเอกชนหลายแห่งครับ ผมมาเจอลานบรรยากาศดีก่อนทางเข้าน้ำตกสิริภูมิ คิดราคาคนละ 100 บาท เลยตกลงใจกางที่นี่แหละ มีน้ำอุ่นให้อาบ มีไฟให้ชาร์ต นอนฟังเสียงน้ำตกชื่นใจมาก
Day 8
เส้นทางวันนี้
* ดอยผาตั้ง
* ถนน ชม.4016 บ้านขุนกลาง-บ้านห้วยเกี๋ยง
* ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี
* ขุนวาง
* ถนน ทล. 1013 ช่วง บ้านห้วยเกี๋ยง-แม่วาง
* น้ำตกแม่สะป๊อก
* ถนน ชม.3035 เลี่ยงเมืองหางดง-เชียงใหม่
วันสุดท้ายของการเดินทาง ลงจากดอยอินทนนท์ด้วยเส้นทางผ่านอำเภอแม่วาง ถนนเส้นนี้เป็นคอนกรีตตลอดทั้งสาย เพิ่งทำเสร็จใหม่สักสองปีที่ผ่านมานี่เอง รถทุกชนิดสามารถวิ่งได้ เป็นทางเลี่ยงสำหรับใครที่ไม่อยากไปใช้ทางหลักฝั่งอำเภอจอมทอง
ลานกางเต็นท์ ทางเข้าน้ำตกสิริภูมิ
ตีห้าฝนตก สบายๆ – หกโมงฝนตก สดชื่นดีนะ – เจ็ดโมงฝนตก ว้าวหมอกกับสายฝนกำลังสวย – แปดโมงฝนตก วันนี้ยังไงก็ไม่รีบนี่นา – เก้าโมงฝนตก เริ่มคิ้วขมวด – สิบโมงฝนตก เห้ย… มันชักจะนานไปแล้วนะ – สิบเอ็ดโมงฝนตก เออ… เละก็เละ เป็นไงเป็นกันสิวะ
วันนี้ฝนตกตลอดเวลา ไม่ต้องพูดถึงการขึ้นกิ่วแม่ปานหรือยอดดอย เพราะแค่จะออกจากเต็นท์ยังทำแทบไม่ได้ บรรยากาศสวยๆ ในตอนเช้ากลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลำบากลำบนไปตลอดวัน
ดอยผาตั้ง
เที่ยวเขาหน้าหนาวใครเขาเตรียมเสื้อกันฝน กว่าจะหาซื้อได้ก็เปียกทั่วทุกอณูของร่างกาย ขี่ฝ่าความหนาวความเปียกขึ้นไปพระตำหนักดอยผาตั้ง จุดชมนางพญาเสือโคร่งยอดฮิต ซึ่ง ณ ตอนนี้มีเพียงกิ่งก้าน ไอหมอก และสายฝน มีแค่สองสามต้นเพิ่งเริ่มบานเท่านั้น
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี
เป็นเรื่องปกติที่ที่นี่จะบานก่อนที่อื่นเพราะสูงสุดในบรรดาจุดชมนางพญาเสือโคร่งบนอินทนนท์ และจากหลายครั้งที่มาครั้งนี้สวยที่สุด แต่ฝนตกซะงั้นนะ ดังนั้นจึงเก็บภาพได้เท่าที่ทำได้แล้วเร่งออกมาเดินทางต่อ
อ้อ… หากมาในวันอากาศดีอย่าลืมเดินเที่ยวชมพรรณไม้ต่างๆ ที่เพาะปลูกที่นี่ด้วยนะ โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์
ขุนวาง
ถนน ชม.4016 พาผมลงจากดอยอินทนนท์ทางอำเภอแม่วาง ระหว่างทางต้องผ่านศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) หนึ่งในสองจุดชมนางพญาเสือโคร่งซึ่งโด่งดังที่สุดของเชียงใหม่ (อีกที่คือขุนช่างเคี่ยน) แต่วันนี้ผมยังไม่หวังให้มันบานหรอก
ที่นี่มีลานกางเต็นท์และบ้านพักด้วยครับ ช่วงพญาเสือโคร่งบานจะคึกคักมาก แต่นอกจากช่วงนั้น บรรยากาศค่อนข้างสงบเหมาะกับการพักผ่อนเหลือเกิน
น้ำตกแม่สะป๊อก
ถนน ชม.4016 ทะลุมาเชื่อมต่อกับ ทล.1013 พาเราสู่อำเภอแม่วาง ขี่ไปเรื่อยๆ จะผ่านบ้านแม่สะป๊อก หมู่บ้านในหุบเขาซึ่งน่าเที่ยวไม่น้อย ภายในโครงการหลวงแม่สะป๊อกมีน้ำตกขนาดย่อมสามารถเข้าไปได้เลย น่าเสียดายเพราะฝนยังไม่หยุดตก คราวหน้าคงต้องแวะมาใหม่
จบทริป
แบกความเปียกปอนกลับสู่สถานีขนส่งอาเขต ใช้เวลาคืนรถแบบง่ายๆ ไม่นาน ก็เดินเข้าสู่สถานีเพื่อรอรถรอบหัวค่ำกลับบ้านสักที ถือเป็นอีกทริปเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่เที่ยวเชียงใหม่ที่สนุกมากครับ ได้เจอสถานที่สวยๆ แปลกๆ ที่นักท่องเที่ยวยังไม่ค่อยรู้จักหลายแห่ง (ถึงบางแห่งจะเหลือแต่ภาพในความทรงจำก็เถอะ…)
สำหรับคนยังไม่เคยเที่ยวเชียงใหม่หรือมาไม่บ่อยนัก ทางนี้คงยังไม่ใช้เส้นทางแรกที่ผมแนะนำ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าความน่าสนใจน้อยกว่าการขึ้นไปทาง แม่แตง เชียงดาว หรือฝาง ค่อยข้างเยอะ แต่หากใครเที่ยวแถวนั้นบ่อยแล้ว หรือเที่ยวเชียงใหม่จนนึกไม่ออกว่าจะไปไหนอีก
ลองให้เส้นทางนี้เป็นทางเลือกใหม่สิ ขึ้นเชียงใหม่มาล่องลงใต้ หางดง แม่วาง ดอยหล่อ ฮอด อมก๋อย ดอยเต่า แล้วจะได้สัมผัสเชียงใหม่ในอีกมุมมอง ซึ่งเป็นมุมมองที่มีเสน่ห์ในตัวเองไม่น้อยเลยครับ
ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller